ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้า ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจเเห่งชาติ ล่าสุด ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ที่ยกร่างขึ้นใหม่ ได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องแล้ว และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ส่งร่างไปให้ที่สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแล้ว สาระสำคัญส่วนหนึ่ง กำหนดให้มีการถ่ายโอนภารกิจหน้าที่ ในส่วนที่ไม่ใช่หน้าที่หลักของสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ เพื่อแก้ไขปัญหากำลังคนไม่เพียงพอในการปฏิบัติหน้าที่ เช่น การจัดการจราจร ตำรวจรถไฟ ตำรวจป่าไม้ เป็นต้น ซึ่งในส่วนของการจัดการจราจรในเขตกรุงเทพมหานครจะมีการถ่ายโอนภารกิจมาให้กรุงเทพมหานครดำเนินการ ภายใน 5 ปี หลังกฎหมายมีผลบังคับใช้ โดยให้คณะกรรมการตำรวจแห่งชาติ (ก.ตร.) กำหนดกระบวนการและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้กับราชการส่วนท้องถิ่น
เบื้องต้น ในร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ กำหนดให้มีการถ่ายโอนภารกิจออกเป็น 2 ระยะ ระยะที่ 1 โอนบุคลากรสำนักงานตำรวจไป "ช่วยราชการ" เป็นเวลา 1 ปี เมื่อครบกำหนดแล้ว หากไม่ประสงค์จะโอนไปสังกัด กทม.สามารถย้ายกลับสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ แต่หากช่วยราชการแล้วประสงค์จะโอนไปสังกัด กทม.เป็นการถาวร ก็ให้ กทม.พิจารณาถ่ายโอนในระยะที่ 2 ตามระเบียบของ กทม.ซึ่งการโอนย้ายทั้งหมดจะกระทำได้ เมื่อ "เจ้าตัวสมัครใจ" และส่วนราชการที่จะรับโอน ต้องทำความตกลงกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยสรุปคือ มีการย้ายเนื้อหางานจราจรมาให้ กทม.แต่ไม่โอนย้ายกำลังมาสังกัด กทม.
สำหรับการถ่ายโอนงานจราจรจากตำรวจมายัง กทม.นั้น จะดำเนินการตามขั้นตอนโดยในขั้นตอนแรกให้ กทม.เป็นผู้ช่วย เรียนรู้ และฝึกทักษะให้เกิดความชำนาญ ในกำหนดเนื้อหางานที่ให้ถ่ายโอนงานไว้ 3 ด้านเท่านั้น ได้แก่ 1.งานอำนวยความสะดวกในการจราจร อาทิ ให้สัญญาณมือจราจรบนท้องถนน (โบกรถ) เริ่มเรียนรู้การกดสัญญาณไฟจราจร 2.งานกวดขันวินัยจราจร อาทิ จัดโครงการอบรบรมในสถานศึกษา จัดโครงการรณรงค์ให้ความรู้ 3.การบังคับใช้กฎหมายจราจร "เฉพาะความผิดฐานจอดรถโดยฝ่าฝืนกฎหมาย" ซึ่งเนื้องานทั้ง 3 ส่วนนี้ มีบัญญัติเอาไว้ในร่างมาตรา 154 ของร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติอย่างชัดเจน
หลักการสำคัญมีการโอนภารกิจงานไปให้ท้องถิ่นก็เพราะต้องการให้ท้องถิ่นมีส่วนแบ่งรายได้จากค่าปรับจากการการกระทำผิดกฎหมายนั้น แล้วนำรายได้ส่วนนั้นมาจัดสรรเงินเพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหา รวมทั้งอาจตั้งงบประมาณของท้องถิ่นมาสมทบเพิ่มเติม โดยการสนับสนุนนั้นจะตรงไปที่สถานีตำรวจในเขตท้องถิ่นนั้นโดยตรง คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมในการสนับสนุนเจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นผู้น้อย ให้สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจ กล่าวว่า ตอนนี้ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจเเห่งชาติ เสร็จเรียบร้อยเเล้วในชั้นกฤษฎีกา ส่งไปยังสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเเล้ว เพื่อให้ ครม.พิจารณาก่อนส่งเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อกฎหมายยังไม่ผ่านการพิจารณาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติก็ยังไม่สามารถโอนงานจราจร ไปให้ กทม.แต่หากถ้ากฎหมายมีผลบังคับใช้เมื่อใด ก็จะกำหนดให้การโอนงานจราจรไปให้ กทม.ต้องกระทำภายใน 5 ปีนับตั้งแต่กฎหมายมีผลบังคับใช้