ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สนช.ผ่านร่าง กม.คุ้มครองแรงงานจ่ายชดเชยเพิ่ม 400 วัน

สังคม
14 ธ.ค. 61
13:19
3,469
Logo Thai PBS
สนช.ผ่านร่าง กม.คุ้มครองแรงงานจ่ายชดเชยเพิ่ม 400 วัน
สนช.พิจารณาผ่านร่างแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ปรับเพิ่มอัตราค่าชดเชยให้กับลูกจ้างที่ทำงานตั้งแต่ 20 ปี ขึ้นไป ได้ค่าชดเชยอัตราใหม่เป็น 400 วัน จากเดิม 300 วัน และเพิ่มสิทธิลาคลอดบุตรให้ลูกจ้างหญิงเป็น 98 วัน

วันนี้ (14 ธ.ค.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีมติ 179 เสียง งดออกเสียง 5 เสียง ให้ร่างแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ผ่านการพิจารณาในวาระ 2 และ 3 เพื่อบังคับใช้เป็นกฎหมาย โดยสาระสำคัญคือการปรับเพิ่ม อัตราค่าชดเชยให้กับลูกจ้างที่ทำงานตั้งแต่ 20 ปี ขึ้นไป ได้ค่าชดเชยอัตราใหม่เป็น 400 วัน จากเดิม 300 วัน โดยเป็นการปรับเพิ่มเติม สำหรับคนที่ทำงานมาครบ 20 ปี โดยอัตราค่าชดเชยในช่วงอายุงานอื่นๆ ยังคงเดิม

นอกจากนี้ กฎหมายใหม่ ยังเพิ่มสิทธิอื่นๆ เช่น สิทธิลาคลอด กำหนดให้ลูกจ้างหญิงที่มีครรภ์มีสิทธิลาเพื่อคลอดบุตร 98 วัน จากเดิมมีสิทธิลา 90 วัน โดยมีสิทธิได้รับค่าจ้างระหว่างลา 45 วัน และอีก 45 วันไปรับจากกองทุนประกันสังคม สำหรับ 8 วันที่เพิ่มขึ้นมา ในกรณีที่ลูกจ้างลาครบ 98 วัน นายจ้างจะจ่ายค่าจ้างระหว่างลา หรือไม่ก็แล้วแต่นายจ้างและลูกจ้างจะตกลงกัน


ทั้งนี้ วันลาเพื่อคลอดดังกล่าว รวมวันลาเพื่อตรวจครรภ์ก่อนจะคลอดด้วย ซึ่งปัญหาที่ผ่านมา พบว่าการลาเพื่อคลอดบุตร บางฝ่ายตีความว่า ต้องคลอดก่อนจึงจะมีสิทธิลา หรือ ตีความว่า ไม่รวมการลาเพื่อไปตรวจครรภ์ก่อนคลอด จึงต้องเขียนให้ชัดเจน อีกทั้งหากวันลาคลอด 98 วัน ไปตรงกับวันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดตามประเพณี หรือวันหยุดพักร้อน หรือ พักผ่อนประจำปี ก็ให้นับรวมวันหยุดดังกล่าวในระหว่างลาคลอดด้วย

ขณะที่นายมนัส  โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย ในฐานะรองโฆษกกรรมาธิการวิสามัญ กล่าวถึงการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน กล่าวถึงข้อดีหรือสิทธิประโยชน์จากกฎหมายฉบับใหม่หลายกรณี ซึ่งเป็นการเพิ่มสิทธิประโยชน์มากกว่าทุกฉบับที่ผ่านมา อาทิ ลูกจ้างมีสิทธิลา เพื่อกิจธุระอันจำเป็นได้ไม่น้อยกว่า 3 วันทำงาน โดยที่ได้รับค่าจ้าง ซึ่งตามกฎหมายฉบับเดิมไม่ได้


กรณีที่นายจ้างเปลี่ยนตัวนายจ้างหรือนิติบุคคล ถ้าลูกจ้างไม่ยินยอม ก็สามารถบอกเลิกสัญญาจ้างได้ โดยที่นายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษ ให้กับลูกจ้างตามมาตรา 38 ซึ่งตามกฎหมายเดิมนั้น จะเป็นการให้ลูกจ้างไปฟ้องศาลเอง

ในส่วนของลูกจ้างหญิงตั้งครรภ์ สามารถลาคลอดได้ทั้งก่อนและหลังคลอด รวม 98 วัน จากเดิมที่ลาคลอดได้เพียงอย่างเดียว 90 วัน ซึ่งไม่รวมลาฝากครรภ์ หรือตรวจครรภ์ ไม่สามารถทำได้ ต้องใช้โควตาในการลาเพื่อกิจธุระอันเป็นจำเป็น 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง