เปิดปมลงพื้นที่พูดคุยกับตัวแทนผู้ปกครองคนพิการที่ร้องเรียนว่าถูกชมรมผู้ปกครองคนพิการทางสติปัญญาจังหวัดกาฬสินธุ์ หักเงินค่าจ้างตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 โดยแต่ละคนถูกหักเงินไปเดือนละกว่า 5,000 บาท จากทั้งหมดที่ต้องได้จริงเดือนละ 9,125 บาท
เงินค่าจ้างมาตรา 35 คืออะไร
เงินค่าจ้างตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 มีที่มาจากมาตรา 33 และ 34 ในกฏหมายฉบับเดียวกันที่ระบุว่าสถานประกอบการ หรือ หน่วยงานราชการใดที่มีผู้ปฏิบัติงานมากกว่า 100 คนขึ้นไปต้องรับคนพิการเข้าทำงานอย่างน้อย 1 คน หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ในพนักงานทุกๆ 100 คนจะต้องมีคนพิการทำงานอย่างน้อย 1 คน แต่หากบริษัทหรือหน่วยงานราชการไม่ประสงค์รับคนพิการเข้าทำงานต้องจ่ายเงินเข้า “กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุญภาพชีวิตคนพิการ” แทน โดยเงินที่จ่ายในส่วนนี้จะนำไปใช้ลดหย่อนภาษีได้
อย่างไรก็ตาม มาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวยังกำหนดว่าหากหน่วยงานราชการหรือสถานประกอบการไม่ประสงค์รับคนพิการเข้าทำงานและไม่ประสงค์จ่ายเงินเข้ากองทุน ยังสามารถให้สัมปทาน จัดสถานที่จําหน่ายสินค้าหรือบริการ จัดจ้างเหมาช่วงงาน ฝากงาน หรือให้การช่วยเหลืออื่นใดแก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการแทนได้ โดยในปี 2560 กฎหมายระบุว่า ผู้พิการจะต้องได้รับค่าจ้างคนละ 109,500 บาทต่อปี อันเป็นที่มาของการจ้างงานตามมาตรา 35 ที่กำลังมีปัญหาอยู่ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศขณะนี้
กลโกงอมเงินคนพิการ
นางราตรี คามุลทา อายุ 66 ปี จากบ้านหนองสอกลาง ต.ลำปาว อ.เมืองกาฬสินธุ์ ผู้ปกครองของหลานสาวซึ่งเป็นผู้พิการทางสติปัญญาวัย 15 ปี เป็นหนึ่งในผู้เสียหายที่ถูกชมรมผู้ปกครองคนพิการทางสติปัญญาจังหวัดกาฬสินธุ์ หักเงินค่าจ้างซึ่งนางราตรีต้องได้รับโดยมิชอบ
นางราตรีบอกว่า พาหลานสาวซึ่งเป็นผู้พิการทางสติปัญญาไปเข้าร่วมกิจกรรมกับชมรมผู้ปกครองคนพิการทางสติปัญญาจังหวัดกาฬสินธุ์ครั้งแรกในปี 2560 ก่อนถูกชักชวนให้ทำสัญญาจ้างงานกับบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งตามมาตรา 35 พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 ในปีเดียวกัน
นางราตรีอ้างว่า เธออ่านหนังสือไม่ออกจึงไม่ได้อ่านสัญญา แต่ประธานชมรมฯ แจ้งเงื่อนไขว่า นางราตรีต้องเข้าไปทำงานในชมรมฯสัปดาห์ละ 3 วัน แลกกับเงินเดือน 4,000 บาท โดยเงินเดือนจะถูกโอนเข้าบัญชีเงินฝากของนางราตรี แต่ประธานชมรมเป็นผู้เก็บบัตรเอทีเอ็มไว้และเป็นผู้เบิกเงินจำนวนดังกล่าวมาให้นางราตรีทุกเดือน
เมื่อทีมงานตรวจสอบสัญญาจ้างงานในปี 2560 ของนางราตรีกลับพบว่า เนื้อหาในสัญญาระบุว่านางราตรีจะได้รับค่าจ้างเดือนละ 9,125 บาท โดยต้องทำงานไม่น้อยกว่าปีละ 210 วัน และในการจ่ายเงินบริษัทจะโอนเงินให้งวดละ 27,375 บาท ทุกๆ 3 เดือน จนครบสัญญา รวมเป็นเงิน 109,500 บาท
ตัวเลขดังกล่าวตรงกับตัวเลขในสมุดบัญชีเงินฝากที่นางราตรีเปิดบัญชีไว้เพื่อรับเงินเดือน ซึ่งระบุว่ามีเงินเข้าบัญชีในปี 2560 รวม 109,500 บาท หรือเฉลี่ยเดือนละ 9,125 บาทไม่ใช่เดือนละ 4,000 บาท อย่างที่ประธานชมรมฯเคยแจ้งไว้ก่อนหน้านี้
นางราตรีบอกว่า เธอไม่รู้ความจริงข้อนี้จนกระทั่งในเดือน มี.ค.ที่ผ่านมามีการร้องเรียนว่าผู้รับจ้างบางส่วนได้เงินไม่ครบตามจำนวน จึงรู้ความจริง
นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของผู้ที่ถูกชมรมผู้ปกครองคนพิการจังหวัดกาฬสินธุ์โกงเงินในส่วนนี้ แต่ยังมีอีกไม่น้อยที่ถูกหักเงินในลักษณะเดียวกัน โดยทั้งหมดได้เดินทางเข้าร้องเรียนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้าตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว
ถึงแม้ว่า หลายพื้นที่กำลังมีเรื่องร้องเรียน และ ถูกตั้งคำถามอยู่ในขณะนี้ แต่การจ้างงานตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 ก็ทำให้ผู้พิการจำนวนไม่น้อยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ทุกเช้านายกิตติชัย กองโคกกรวด ผู้พิการทางการเคลื่อนไหวอายุ 39 ปี จากบ้านเหล่าไฮงาม ต.เหล่าไฮงาม อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ เดินทางไปที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเหล่าไฮงาม เพราะเขาได้รับการจ้างงานตามมาตรา 35 จากบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งให้เข้าทำงานที่นั่น หน้าที่ของนายกิตติชัยในแต่ละวันคือการตรวจห้องยาให้เป็นระเบียบ รวมถึงจัดยาเป็นชุดตามที่เภสัชกรสั่งเพื่อให้เจ้าหน้าที่จ่ายยาให้ผู้ป่วยที่เข้ารับบริการได้อย่างสะดวกรวดเร็ว
ในการทำงานแต่ละวันนายกิตติชัยต้องเก็บภาพไว้เป็นหลักฐานเพื่อส่งไปให้บริษัทที่จ้างงานรับทราบว่าตัวเขาเข้าทำงานจริง ไม่ใช่เพียงนำชื่อมาแอบอ้างเพื่อเบิกเงิน ที่สำคัญคือเงินค่าจ้างในแต่ละเดือนจะถูกโอนเข้าบัญชีของนางยกิตติชัยโดยตรง และเขาสามารถเบิกถอนเงินได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องผ่านคนกลาง
ในฐานะผู้พิการที่ได้รับการจ้างงานตามมาตรา 35 นายกิตติชัยติดตามข่าวการทุจริตที่เกิดขึ้นในจังหวัดกาฬสินธุ์มาโดยตลอด เขามีความกังวลไม่น้อยว่าพฤติกรรมดังกล่าวอาจส่งผลให้บริษัทต่างๆ หันไปจ้างคนพิการในพื้นที่อื่นแทน ซึ่งจะทำให้คนพิการคนอื่น ๆ ในพื้นที่ต้องเสียสิทธิ์และขาดรายได้ไปด้วย
จะเห็นได้ว่าการจ้างงานคนพิการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการหากมีการบริหารจัดการอย่างถูกต้องจะทำให้คนพิการได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่
หลังจากมีการร้องเรียนและตรวจสอบพบว่ามีการทุจริตเงินจ้างงานคนพิการ วันที่ 15 พ.ย.61 กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ร่วมกับกระทรวงแรงงานจัดแถลงข่าว ระบุว่าหลังจากนี้จะกำหนดแนวทางปฏิบัติในการจ้างงานตามมาตรา 33 และ 35 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการให้ชัดเจนยิ่งขึ้น พร้อมกับจัดทำระบบฐานข้อมูลกลางของการจ้างงานคนพิการ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการปฏิบัติงานและตรวจสอบได้
นอกจากนี้ยังกำหนดแนวทางดำเนินการเกี่ยวกับ การร้องทุกข์ ร้องเรียน การจ้างงานคนพิการ ตามมาตรา 33,34 และ 35 ให้มีความชัดเจน เพื่อความโปร่งใส เป็นธรรม ถูกต้องและรวดเร็ว หากกรณีเจ้าหน้าที่กระทำความผิดจะดำเนินการทางวินัยอย่างเคร่งครัด