วันนี้ (28 ธ.ค.2561) นายศรีสุวรรณ จรรยา โพสต์เฟซบุ๊กชี้ว่า กรรมการ ป.ป.ช. 5 คน ที่เป็นเสียงข้างมาก ในการลงมติยุติการสอบกรณีนาฬิกาหรู 22 เรือน ของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ทุจริตต่อหน้าที่ จงใจปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย และไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
โดยจะรวบรวมรายชื่อประชาชน 20,000 ชื่อ เพื่อยื่นเรื่องต่อประธานรัฐสภา ให้ตั้งคณะกรรมการอิสระไต่สวนความเป็นกลางทางการเมือง และยื่นเรื่องต่อประธานศาลฎีกา เพื่อวินิจฉัยให้อัยการสูงสุดดำเนินการฟ้องคดี
นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น โพสต์เฟซบุ๊กตั้งคำถาม "เมื่อนาฬิกาเดินไม่ตรง ป.ป.ช.จึงตกเป็นจำเลยร่วม" เรียกร้องให้กรรมการ ป.ป.ช. เปิดเผยคำวินิจฉัยส่วนบุคคล เพื่อให้สังคมได้รับรู้ถึงความโปร่งใส โดยเฉพาะ 4 คำถามที่ควรตอบ คือ 1.การยืมมาถือเป็นหนี้สินต้องแสดงบัญชีหรือไม่ 2.การยืมของแพงและใช้คืน ย่อมไม่ต่างจากหนี้ใช่ไหม 3.มีข้อมูลช่วงเวลาของการยืมหรือไม่ และ 4.กรณีนาฬิกาหรูต่างกับกรณีของนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อมหรือไม่
นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการ ป.ป.ช. ยืนยันถึงการทำหน้าที่ตามอำนาจที่กฎหมายรองรับไว้ โดยพิจารณาจากพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวน ซึ่งไม่สามารถห้ามวิพากษ์วิจารณ์ หรือยื่นเรื่องถอดถอนได้ เพราะเป็นสิทธิในการแสดงความเห็นของแต่ละคน แต่ระยะเวลาจะพิสูจน์การทำงานของ ป.ป.ช.
สำหรับมติ 5 ต่อ 3 เสียง ที่ชี้ว่าไม่มีมูลเพียงพอที่จะตั้งคณะกรรมการไต่สวนนาฬิกาหรูนั้น 5 เสียง ประกอบไปด้วย นายปรีชา เลิศกมลมาศ นายณรงค์ รัฐอมฤต นายวิทยา อาคมพิทักษ์ นายสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร และพล.อ.บุณยวัจน์ เครือหงส์ ส่วนอีก 3 เสียง คือ นางสาวสุภา ปิยะจิตติ นางสุวณา สุวรรณจูฑะ และ พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง