"สามก๊ก" ไม่ใช่เพียงวาทกรรมที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ใช้เปรียบเทียบสภาวะการเมือง 3 ขั้น คือ ประชาธิปัตย์ เพื่อไทย และคสช. เท่านั้น แต่การเมือง "ภายใน" ประชาธิปัตย์เองก็มีสภาวะ "สามก๊ก" ไม่ต่างกัน
การเลือกหัวหน้าพรรคช่วงเดือน ก.ย.2561 สะท้อนภาพนี้ ก๊ก 1 มีนายชวน หลีกภัย เป็นกำลังหลัก ก๊ก2 มีนายบัญญัติ บรรทัดฐาน เป็นกำลังหลัก และก๊ก 3 คือ อดีตแกนนำ กปปส. ซึ่งที่ผ่านมาตำแหน่งก๊ก3 มีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนไปในแต่ละยุคสมัย
“ลูกหมี” อยู่ในก๊ก 3
“ลูกหมี” หรือนายชุมพล จุลใส อดีต ส.ส.ชุมพรเขต 1 ปชป. และอดีตแกนนำ กปสส. เป็นกรณีล่าสุดที่สะท้อนสภาวะ “สามก๊ก” อันเป็นศึกในของประชาธิปัตย์ หลังพี่ชายของลูกหมีเลือกลงสมัคร ส.ส. ชุมพรเขต 3 ในนามพรรครวมพลังประชาชาติไทย(รปช.) ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นแกนนำ ทำให้ "ลูกหมี" ถูกคณะกรรมการบริหารพรรค ปชป. สั่งแขวน และตามมาด้วยการหาผู้สมัคร ส.ส. คนใหม่ลงแทน
"ศึกใน" ครั้งนี้ กระทบ ปชป. แน่ เพราะเท่ากับว่า สมมติฐานว่าจะมีการแย่ง "ฐานเสียง" ในภาคใต้เกิดขึ้นจริง ฝั่งหนึ่งคือฐานเสียงของปชป. ที่จะเลือกผู้สมัครส.ส.ของ ปชป.ดังที่เป็นมา แต่อีกฝั่งหนึ่งคือเสียงก็จะถูกแบ่งไปยัง รปช. ส่งให้ผู้สมัครส.ส. ที่นายสุเทพคัดสรรมาชิงคะแนนในพื้นที่นี้
แม้มั่นใจได้ว่าพื้นที่หลัก ปชป. ยังยึดฐานเสียงได้ แต่คะแนนเสียงที่ถูกหั่นไปก็มีผลต่อภาพรวม เพราะยิ่งได้คะแนนมากเท่าไหร่ก็มีโอกาสได้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อเพิ่ม ซึ่งจำนวนส.ส.นี้คือแต้มต่อที่สำคํญ
ปชป. จะไม่มีทางแพ้น็อกในภาคใต้ แต่จะมีการ์ดตกจากการถูกแย่งคะแนนจาก "คนใน" ที่ย้ายค่ายย้ายพรรคบ้าง
"สามก๊ก" อันเป็นสภาวะภายในของ ปชป. ย่อมกระทบ "สามก๊ก" สนามใหญ่ระดับประเทศ เพราะหาก ส.ส.ประชาธิปัตย์ลด อำนาจการต่อรองและการต่อสู้ทางการเมืองก็จะลดตามในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ช่วงที่พรรคตัวแทน คสช. ห้ำหั่นกับเพื่อไทย ประชาปัตย์ยังเป็นตัวแปรที่กำหนดชัยชนะ ที่เป็นปลายทางของการเลือกตั้ง ได้แก่ การจัดตั้งรัฐบาลและเลือกนายกรัฐมนตรี
ประชาธิปัตย์ จึงไม่ต่างจาก “ง่อก๊ก” ในนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่อง “สามก๊ก” นอกจากจะเป็นทัพที่ยึดชัยภูมิใน “แดนใต้” ของประเทศ ยังมีความเป็นไปได้ที่จะ “อยู่ยืนยาว” ที่สุดในบรรดาก๊กต่างๆ ก่อนที่จะถูกผนวกรวมเป็นก๊กเดียว เพราะหากประชาธิปัตย์เทเสียงไปฝั่งใดเท่ากับฝั่งนั้นกุมชัยชนะ
แม้นายอภิสิทธิ์จะประกาศ ไม่เอา “ทักษิณ” และไม่เอา “คสช.” แต่ความเสี่ยง 1 คือการเป็นพรรคฝ่ายค้าน ซึ่งอาจอ่อนแอเข้าขั้น“หงอก๊ก” เพราะคงทำงานยากหากต้องร่วมงานกับเพื่อไทย ขณะที่ความเป็นไปได้ที่ 2 มีผู้มองข้ามช็อตว่าหาก ปชป. แพ้การเลือกตั้ง และนายอภิสิทธิ์ล่าออก ก็เป็นไปได้หัวหน้าคนใหม่จะเข้าฝั่ง คสช.
“อยู่ยืนยาว” นั้น จึงเป็นลักษณะที่เหมาะกับประชาธิปัตย์ ไม่ต่างจาก “ง่อก๊ก”