ความเคลื่อนไหวของ “พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” ในฐานะกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) ระหว่างการเปิดศูนย์ประสานนงาน พปชร. เขตดินแดง-เขตห้วยขวาง แสดงความมั่นใจว่าจะได้ ส.ส.กรุงเทพมหานคร ไม่ต่ำกว่า 15 ที่นั่ง เพื่อลบคำปรามาสและกวาด ส.ส. กรุงเทพมหานคร
ไม่อยากพูดถึงบางคนพูดดีพูดเก่ง แต่เคยอยู่ในพื้นที่หรือไม่
ถ้อยคำที่เปี่ยมไปด้วยความมั่นใจย่อมถูกโจมตี ทั้งพรรคต้นสังกัดเดิมอย่างประชาธิปัตย์ และพรรคที่มีฐานในเขตนั้นอย่างเพื่อไทย เพราะนอกจากตำแหน่ง "กรรมการบริหารพรรค" ยังมีตำแหน่งที่นายพุทธิพงษ์นั่งอยู่ในรัฐบาล คือ "โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี"
สิ่งที่พูดจึงเป็นเรื่องที่เชื่อมโยงไปยังการหาเสียง และไม่ใช่กการตี "ฝีปาก" ซึ่งนายพุทธิพงษ์ ยังสัมทับด้วยความมั่นใจผ่านการทำงานที่เป็นรูปธรรมของรัฐบาล คสช. คือ การแก้ไขปัญหาพื้นที่ดินแดง โดยเฉพาะเรื่อง "แฟลตดินแดง"
ไม่ได้บอกว่าเป็นผลงาน แต่จะทำแฟลตดีกว่าเดิม
"อาคารแปลงจี" คือแฟลตใหม่ที่มีสภาพไม่ต่างจากคอนโดกลางเมือง ที่สำเร็จในยุครัฐบาลคสช. ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายรัฐมนตรี เปิดโครงการชุมชนเมืองดินแดงด้วยตนเอง ช่วงเดือนก.ค.2561 โดยมีประชาชนจากแฟลตเดิมย้ายเข้ามาอยู่แฟลตใหม่แล้ว และโครงการยังเดินไปต่อเนื่อง
ขณะที่นายพุทธิพงษ์ ยืนยันว่าการพัฒนาต่อ คือ "ห้องใหญ่ ลดค่าส่วนกลาง" และตลาดห้วยหวางจะกลายเป็นตลาดประชารัฐแห่งแรก เรียกได้ว่าดินแดงจะเป็น "พื้นที่ทองคำ"
แม้ขณะนี้กฎหมายเกี่ยวกับการ "หาเสียง" ช่วงเลือกตั้งจะยังไม่ชัดเจน เพราะยังไม่มีการประกาศ พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง แต่การ "สัญญา" ลักษณะนี้ที่เป็นลีลาของนักการเมืองทุกยุคกำลังถูกนำกลับมาใช้ โดยเฉพาะการสัญญาว่าจะ "เพิ่ม" หรือต่อเติมจากนโยบายและโครงการเดิมๆ ที่เคยขับเคลื่อน
เช่นเดียวกับนโยบายอื่นๆ ที่รัฐบาลในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา จะต้อง "ให้" มากกว่ารัฐบาลก่อนหน้าที่เคยให้
ไม่เพียง "ถ้อยคำ" แต่การกระทำชัดเจน การให้ในลักษณะนี้ยิ่งปรากฎชัดช่วงใกล้เลือกตั้ง ดังข้อความของ ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรัฐมนตรีคลัง ที่เผยแพร่ช่วงปลายปี 2561 ช่วงหนึ่งระบุว่า รัฐบาลคสช.มีการใช้งบประมาณแผ่นดินสร้างคะแนนนิยมและพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล
ไม่รู้สึกละอายว่านำเงินของประชาชนไปใช้หาเสียง อีกทั้งยังปฏิเสธอย่างหน้าไม่อายว่าโครงการนั้นไม่ใช่โครงการประชานิยม
คำว่า "ประชานิยม" จึงไม่น่าจะหมดไปในการเลือกตั้งและหลังการเลือกตั้งในครั้งนี้
แม้คำว่า "ประชานิยม" จะเป็นที่รับรู้ของสังคมนับแต่รัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร แต่หลังจากนั้นการสัญญาว่าจะ "ให้" และ "ให้เพิ่มขึ้น" ถูกใช้หาเสียงต่อเนื่อง และหลังการเลือกตั้งการให้และการแจกก็เพิ่มขึ้นจริง
อาทิ การแจกเช็กช่วยชาติ รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, การลดหย่อนภาษีรถยนต์คันแรก-แจกแท็บเล็ต รัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร, การแจกเงินผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ฯลฯ
ถึงบรรทัดนี้ไม่ใช่ข้อสรุปว่า "ประชานิยม" ทุกโครงจะเป็นเนื้อร้าย เพราะนโยบายที่ประชาชนได้ประโยชน์และเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าก็มีส่วนดี เช่น "แฟลตดินแดง" เพราะคลี่คลายปัญหาบางส่วนที่เกิดขึ้น แต่โครงการอื่นๆ ที่ "ให้" จนเกินเลย และเป็นภาระต่องบประมาณแผ่นดิน ต้องกลับมาทบทวน
การเลือกตั้ง 2562 การให้และการแจก ที่เป็นกลวิธีทางการเมืองคงมีให้เห็นไม่ต่างจากทุกครั้งที่ผ่านมา แต่หลังการเลือกตั้งอย่างน้อยสังคมยังหวังว่าจะมีการแก้ไขปัญหาระยะยาวในประเด็นที่เป็นปัญหาโครงสร้าง ตามคำกล่าวอ้างว่า "ปฏิรูป" เสียที