ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"โดรน" ฉีดละอองน้ำลดฝุ่นได้ผลร้อยละ 20 ลุุยปฏิบัติการ 4 พท.

สิ่งแวดล้อม
22 ม.ค. 62
14:57
1,749
Logo Thai PBS
"โดรน" ฉีดละอองน้ำลดฝุ่นได้ผลร้อยละ 20 ลุุยปฏิบัติการ 4 พท.
สทป.ทดสอบใช้โดรนฉีดพ่นสารดักจับฝุ่น PM 2.5 พบช่วยลดได้ร้อยละ 20-30 เตรียมเริ่ม 4 พื้นที่บริเวณสวนวชิรเบญจทัศ ตลาดนัดจตุจักร รพ.สงเคราะห์ทหารผ่านศึก และ รพ.พระมงกุฎเกล้า ขณะที่ค่าฝุ่นละอองเวลา 12.00 น.เริ่มลดลง แต่ยังมีผลกระทบ 39 พื้นที่

วันนี้ (22 ม.ค.) สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (สทป.) ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)และกรมควบคุมมลพิษ ทดลองปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองด้วยการนำอากาศยานไร้คนขับ หรือโดรน ฉีดพ่นละอองน้ำผสมสารดักจับฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศ

 

 

พล.อ.อ.ปรีชา ประดับมุข ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ กล่าวว่า จากปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่เป็นปัญหาอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ทาง สทป.ร่วมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทดสอบการใช้อากาศยานไร้คนขับ ในการลดฝุ่นละอองขนาดเล็กโดยทดสอบที่สวนสวนวชิรเบญจทัศ หรือสวนรถไฟ กรุงเทพฯ มีเนื้อที่ 3,200 ตารางเมตร หรือประมาณ 2 ไร่

 

 

โดยเริ่มทดสอบตั้งแต่วันที่ 18 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยโดรน 6 ลำ บินด้วยความสูง 25 เมตร บรรทุกน้ำผสมสาร B9X ปริมาณครั้งละ 9 ลิตร แล้วฉีดพ่นละอองน้ำขนาด 50 ไมครอน เพื่อจับฝุ่นละอองให้ตกลงสู่พื้นโดยใช้เวลาบินครั้งละประมาณ 45 นาที

 

ทั้งนี้ อากาศยานไร้คนขับที่ฉีดพ่นละอองน้ำจะผสมสาร B9X ซึ่งเป็นสารที่ช่วยดักจับฝุ่นละอองขนาดเล็กได้ มักใช้ในอุตสาหกรรมที่มีปริมาณฝุ่นเยอะเช่น เหมืองแร่ และไม่มีเป็นอันตรายต่อมนุษย์

 

 

ทั้งนี้ ได้กำหนดพื้นที่เป้าหมาย 4 จุด ได้แก่ สวนวชิรเบญจทัศ ตลาดนัดจตุจักร โรงพยาบาลสงเคราะห์ทหารผ่านศึก และโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ซึ่งขณะนี้ได้รายงานผลการทดสอบให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีทราบ และพรัอมที่จะดำเนินการในพื้นที่จริงทันทีหากมีคำสั่ง

การใช้อากาศยานไร้คนขับในการฉีดพ่นละอองน้ำ สามารถลดฝุ่นขนาดเล็กได้ร้อยละ 20-30 จากการเปรียบเทียบปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กก่อน-หลังการทดสอบ รวมถึงมีต้นทุนที่ค่อนข้างน้อยในการปฏิบัติภารกิจ โดยจะเริ่มในพื้นที่ที่ประชาชนหนาแน่นและจำเป็น จากนั้นจะขยายไปพื้นที่อื่นตามที่มีการร้องขอ

ทั้งนี้ ในการทดสอบวันนี้ (22 ม.ค.62) การทดสอบครั้งที่ 7 เวลา 10.00 น. ตรวจวัดค่าปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ก่อนทดสอบวัดค่าได้ 54 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร 10.15 - 10.45 น. ทำการทดสอบ 30 นาที หลังทำการทดสอบวัดค่าปริมาณฝุ่นละอองในอากาศได้ 49 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร วัดค่าปริมาณฝุ่นละอองลดลงร้อยละ 9.25 ทดสอบครั้งที่ 8 เวลา 13.00 น. ตรวจวัดค่าปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ก่อนการทดสอบ 26 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เวลา 13.15 - 13.56 น.ทำการทดสอบ 41 นาทีหลังทำการทดสอบวัดค่าปริมาณฝุ่นละอองในอากาศได้ 21 ไมโครกรัมต่อลูกบาศเมตร ค่าปริมาณฝุ่นละอองลดลงร้อยละ 19.23

 

 

ด้านนายนิรันดร์ ยวนใจ ผู้ควบคุมอากาศยานไร้คนขับ กล่าวว่า ในการเข้าร่วมทดสอบการบินในครั้งนี้เพื่อทดสอบก่อนที่จะปฏิบัติในพื้นที่จริง ขณะนี้มีความพร้อมที่จะปฏิบัติภารกิจ โดยของบริษัทมีผู้ควบคุมอากาศยาน 10 คน และอากาศยานไร้คนขับจำนวน 10 ลำ เตรียมพร้อมปฏิบัติภารกิจ

 

การบินค่อนข้างปลอดภัยเพราะมีระบบ GPS ช่วยกำหนดเพดานการบิน ระยะห่าง ความสูง และลักษณะการบินเพื่อฉีดพ่นละอองน้ำ โดยมอนิเตอร์ผ่านหน้าจอ ซึ่งมีความปลอดภัยค่อนข้างสูง 

ทั้งนี้จะมีการทดลองและทดสอบต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 25 ม.ค.นี้ตั้งแต่เวลา 08.00 – 16.00 น. หากสามารถวัดผลการทดลองและทดสอบแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองในพื้นที่เป้าหมายลดลงอย่างต่อเนื่อง สทป.จะดำเนินการสู่การปฏิบัติจริงต่อไป

ขณะที่เมื่อเวลา 12.00 น.กรมควบคุมมลพิษรายงานว่า ฝุ่น PM 2.5 พื้นที่ริมถนน โดยรวมอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ เกินค่ามาตรฐาน 24 พื้นที่ ส่วนพื้นที่ทั่วไป โดยรวมอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ 15 พื้นที่ โดยรวมปริมาณฝุ่นละอองลดลงกว่าช่วง 07.00 น.

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

"ฝุ่นพิษ" พุ่งสีแดง 7 พื้นที่-ชงเสนอห้าม ขรก.ขับรถมาทำงาน

คพ.ทดลองใช้โดรนโปรยน้ำไล่ฝุ่น PM 2.5

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง