วันนี้ (24 ม.ค.2562) ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพากินสัน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เสนองานวิจัยความปลอดภัยในการขับขี่รถยนต์ของผู้ป่วยโรคพาร์กินสันด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะสำหรับติดตั้งในรถยนต์และการใช้เครื่องมือวัดอัตราการตอบสนองแบบ 3 มิติ โดยร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
ดร.พญ.อรอนงค์ โพธิ์แก้ววรางกูล คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้วิจัยโครงการประเมินความปลอดภัยในการขับขี่รถยนต์ของผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน กล่าวว่า เนื่องจากผู้ป่วยพาร์กินสัน มีอาการของโรคส่งผลให้ผู้ป่วยมีปัญหาการเคลื่อนไหวช้า กล้ามเนื้ออ่อนแรง และปัญหาด้านระบบประสาท ทำให้อาจจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการขับขี่รถยนต์
ทำให้ผู้สูงอายุที่เคยได้รับใบขับขี่ตลอดชีวิต มีความกังวลว่าจะไม่สามารถขับรถได้ จึงตัดสินใจไม่ขับรถ เพราะกลัวจะส่งผลกระทบต่อผู้อื่น แม้ผู้สูงอายุบางคนจะไม่ได้เป็นโรคพาร์กินสันจึงวิจัยเพื่อให้อุปกรณ์อัจฉริยะช่วยคัดกรองผู้ป่วยพาร์กินสันจากคนปกติในการสอบภาคปฏิบัติของการสอบใบขับขี่ตลอดชีวิต
ทั้งนี้จากการการศึกษาระยะที่ 1 ศึกษาเปรียบเทียบความสามารถในการขับขี่รถยนต์ผู้ป่วยพาร์กินสันกับอาสาสมัครคนปกติ กลุ่มละ 41 คน และมีข้อมูลทั่วไปทางประชากรศาสตร์ที่ไม่ต่างกัน เช่น เพศ อายุ ความสามารถในการขับขี่ จำนวนครั้งของการเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ในรอบปีที่ผ่านมา และประวัติการหกล้มในช่วงเดือนที่ผ่านมา
โดยประเมินอัตราการตองสนองด้วยอุปกรณ์ตรวจวัดอัตราการตอบสนองแบบ 3 มิติ แบบทดสอบประ กอบด้วย อัตราการตอบสนองต่อการเริ่มเหยียบคันเร่ง (ไฟเขียว) อัตราการตอบสนองต่อการเริ่มการเหยีบเบรก (ไฟแดง) การทดสอบความสามารถในการหยุดรถ โดยประเมินจากระยะห่างจากวัตถุแล้วนำข้อมูลทั่วไปของประชากรและค่าที่ตรวจได้จากอุปกรณ์ทั้งหมดมาวิเคราะห์ทางสถิติ
ผลการทดสอบพบว่าผู้ป่วยพาร์กินสันมีการตอบสนองที่ช้า และมีโอกาสเกิดความผิดพลาดระหว่างการทดสอบขับรถกว่าอาสาสมัครปกติ ผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 60 ปี มีโอกาสหยุดการขับขี่รถยนต์มากกว่าคนที่อายุน้อยกว่าประมาณ 5.6 เท่า และมีโอกาสหยุดการขับขี่มากกว่าคนปกติ 8.9 เท่า
รถยนต์พาร์กินสัน ช่วยคัดกรองผู้ป่วยขับรถ
เนื่องจากผู้ป่วยพาร์กินสัน จะมีปัญหาการทรงตัวไม่ดี สามารถพยากรณ์โอกาสในการหยุดการขับขี่ในผู้ป่วยมากกว่าคนปกติ 15.47 เท่า และจากผลการประเมินการศึกษาครั้งนี้ นำไปสู่การศึกษาในระยะที่ 2 ตรวจสอบประสิทธิภาพการขับขี่รถยนต์บนท้องถนนจริง ระหว่างผู้ป่วยโรคพาร์กินสันและกลุ่มอาสาที่มีสุขภาพดี กลุ่มละ 10 คน
โดยประเมินจากรถยนต์ที่ติดตั้งอุปกรณ์ สำหรับประเมินการขับขี่หรือ “รถยนต์พาร์กินสัน” ซึ่งเป็นรถยนต์ซีดาน 4 ประตูที่ติดตั้งระบบอิเล็กทรอนิกส์ ข้อมูลที่บันทึกประกอบด้วย กล้องวิดีโอ 5 ตัว ระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดการขับรถ ความเร็วของรถ ระยะเวลาในการเหยียบคันเร่งและเบรก การตรวจการเคลื่อน ไหวของพวงมาลัย การประเมินตำแหน่งรถด้วยระบบ GPS และการประเมินระยะห่างของตัวรถกับสิ่งกีดขวาง
โดยทั้ง 2 กลุ่มจะได้รับการทดสอบวิธีเดียวกับการทดสอบ เพื่อขอรับในอนุญาตขับขี่รถยนต์ของกรมการขนส่งทางบก ผลการศึกษาพบว่าผู้ป่วย มีระยะเวลาในการเหยียบเบรกมากกว่า การประเมินแรงกดเท้าขณะเหยียบเบรกเบากว่าอาสาสมัครปกติ และผู้ป่วยมีจำนวนครั้งของความพยายามในการถอยหลังเข้าซองมากกว่าอาสาสมัครอย่างมีนัยสำคัญ
ผู้วิจัยหวังว่า “รถยนต์พาร์กินสัน” จะได้เป็นส่วนหนึ่งในการคัดกรองผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน และคนปกติในการสอบภาคปฏิบัติใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ของกรมการขนส่งทางบกในอนาคต