ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เลือกตั้ง 2562 : เตรียมตัวให้พร้อมก่อนเข้าคูหากับ "คู่มือเลือกตั้ง มือใหม่"

การเมือง
4 ก.พ. 62
13:49
28,956
Logo Thai PBS
เลือกตั้ง 2562 : เตรียมตัวให้พร้อมก่อนเข้าคูหากับ "คู่มือเลือกตั้ง มือใหม่"
ไทยพีบีเอสออนไลน์ รวบรวมขั้นตอนการเลือกตั้ง เตรียมความพร้อมก่อนเข้าคูหาในวันที่ 24 มี.ค.นี้ สำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้งมือใหม่ หลังประเทศไทยห่างหายจากการเลือกตั้งไปนานกว่า 7 ปี

นับเป็นเวลา กว่า 7 ปี แล้ว ที่ประเทศไทยห่างหายจากการเลือกตั้ง หลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 ก.ค.2554 แม้จะมีการเลือกตั้งครั้งต่อมาในวันที่ 2 ก.พ.2557 แต่ความขัดแย้งทางการเมืองที่ยืดเยื้อและทวีความรุนแรงก็ส่งผลให้ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 6 ต่อ 3 ให้การเลือกตั้งครั้งนั้นเป็นโมฆะ เนื่องจากไม่ได้มีการจัดเลือกตั้งในวันเดียวทั่วราชอาณาจักร

หากนับปี 2554 เป็นการเลือกตั้งครั้งล่าสุดของประเทศไทย เท่ากับว่าคนที่เกิดหลังปี 2536 หรืออายุ 18-26 ปี คือกลุ่มคนที่จะได้สัมผัสประสบการณ์เลือกตั้งในวันที่ 24 มี.ค.นี้ เป็นครั้งแรก ไทยพีบีเอสออนไลน์ จึงได้รวบรวมขั้นตอนการเลือกตั้ง ซึ่งการเลือกตั้งในครั้งนี้มีการเปลี่ยนแปลงวิธีการเลือกตั้งในหลายส่วน

 

1. เตรียมเช็กชื่อมีสิทธิเลือกตั้งหรือไม่

คุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

  • มีอายุ 18 ปี บริบูรณ์ในวันที่เลือกตั้ง ในวันที่ 24 มี.ค.2562 หรือต้องเิกดวันที่ 24 มีนาคม 2544 หรือก่อนหน้านั้น
  • มีสัญชาติไทย ผู้ที่โอนสัญชาติมาเป็นคนไทย ต้องได้รับสัญชาติมาแล้วไม่ต่ำกว่า 5 ปี
  • มีชื่อในทะเบียนบ้านมาแล้วไม่น้อยกว่า 90 วัน

สำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง กกต.จะมีการส่งรายชื่อทางไปรษณีย์ไปยังบ้านของประชาชนทุกคนที่มีสิทธิเลือกตั้ง โดยในแต่ละบ้านจะได้รับจดหมาย 1 ฉบับ ซึ่งเป็นรายชื่อตามทะเบียนบ้านของทุกคนในบ้านที่มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง เพื่อให้ได้ตรวจสอบรายชื่อและเขตเลือกตั้งของตนเองก่อนออกไปลงคะแนนจริง ซึ่งจะส่งไปถึงไม่เกิน 20 วัน ก่อนการเลือกตั้ง  

ใครบ้าง ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง?

  • ภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
  • คนที่อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง
  • คนที่ถูกคุมขังตามคำสั่งศาล
  • คนวิกลจริต

 2. อยู่ที่ไหน ก็เลือกตั้งได้

สำหรับผู้ที่อาศัยอยู่นอกเขตเลือกตั้งที่มีชื่ออยู่ หรืออยู่นอกราชอาณาจักร ต้องยื่นลงทะเบียนออนไลน์ขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า ตั้งแต่วันที่ 28 ม.ค. - 19 ก.พ.นี้ เท่านั้น และต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้งใน วันที่ 17 มี.ค.2562

ทั้งนี้ ผู้ที่ต้องการลงทะเบียน สามารถตรวจลงทะเบียนผ่านทางเว็บไซต์ระบบลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า นอกเขตเลือกตั้ง ทางอินเทอร์เน็ต https://election.bora.dopa.go.th/ectoutvote/  โดยต้องกรอกรายละเอียด ดังนี้ 

  1. เลขประจำตัวประชาชน เป็นตัวเลข 13 หลัก
  2. ชื่อ เป็นภาษาไทย โดยไม่ต้องใส่คำนำหน้านาม
  3. นามสกุล เป็นภาษาไทย
  4. วันเดือนปีเกิด (พ.ศ.) เช่น เกิด 15 กรกฎาคม 2520 ให้ใส่เป็น 15/07/2520
  5. หมายเลขหลังบัตรประจำตัวประชาชน ซึ่งปรากฏอยู่ด้านหลังของบัตรประจำตัวประชาชน
  6. เลขรหัสประจำบ้าน เป็นตัวเลข 11 หลัก ปรากฏอยู่ด้านซ้ายบน ในหน้าแรกของรายการเกี่ยวกับบ้านในเล่มสมุดสำเนาทะเบียนบ้าน
  7. จังหวัดที่ต้องการไปใช้สิทธิ ประกอบด้วยรายชื่อจังหวัด เรียงตามตัวอักษร

 


จากนั้นระบบจะทำการตรวจสอบข้อมูล หากข้อมูลถูกต้อง ระบบจะแสดงหน้าจอลงทะเบียน โดยประชาชนต้องเลือกสถานที่ลงคะแนนเลือกตั้งนอกเขต หรือหากต้องการเปลี่ยนจังหวัดที่ต้องการไปใช้สิทธิ ก็สามารถเลือกจังหวัดอื่นๆ ในหน้าจอนี้ได้ โดยสถานที่จะเปลี่ยนแปลงไปตามจังหวัดที่เลือก

เมื่อกรอกข้อมูล และตรวจสอบข้อมูลแล้ว ให้กดปุ่ม “ลงทะเบียน” ระบบจะแสดงข้อความขึ้นมาให้ยืนยัน การบันทึกข้อมูล หากต้องการกลับไปแก้ไขข้อมูลให้กด “ไม่ใช่” หากต้องการยืนยันการลงทะเบียนกด “ใช่” ระบบจะทำการบันทึกข้อมูลเข้าสู่ระบบการลงทะเบียนฯ เมื่อเสร็จสิ้นการลงทะเบียน ระบบจะแสดงเอกสารการลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้ง ซึ่งประชาชนสามารถสั่งพิมพ์ออกทางเครื่องพิมพ์เพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานในการลงทะเบียนได้ 

3. 24 มี.ค. เข้าคูหากาเบอร์เดียว

เมื่อเดินทางไปถึงเขตเลือกตั้งแล้ว ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องปฏิบัติตาม 5 ขั้นตอน ดังนี้

  • ตรวจสอบรายชื่อ
    ตรวจสอบรายชื่อและลำดับที่จากบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ป้ายประกาศหน้าหน่วยเลือกตั้ง
  • ยื่นบัตรประชาชน
    ยื่นบัตรประชาชนและลงลายมือชื่อในรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
  • รับบัตรเลือกตั้ง
    ลงลายมือชื่อหรือพิมพ์ลายนิ้วหัวแม่มือขวาด้านบนต้นขั้วบัตรเลือกตั้ง พร้อมรับบัตรเลือกตั้ง 1 ใบ คือ บัตรเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต 
  • "กากบาท" ลงคะแนน
    เข้าคูหาตรวจสอบหมายเลขผู้สมัคร โลโก้พรรค และชื่อพรรคของผู้สมัครที่ต้องการเลือกแล้วลงคะแนนโดยการทำเครื่องหมายกากบาท X ในช่องว่างสำหรับทำเครื่องหมาย ไม่เกินหนึ่งหมายเลข หรือ ทำเครื่องหมาย X ใน "ช่องไม่เลือกผู้สมัครใด" ที่มุมด้านขวาล่าง หากไม่ประสงค์ลงคะแนนเลือกตั้งผู้สมัครใด
  • หย่อนบัตรลงหีบ
    เมื่อลงคะแนนเสร็จแล้วพับบัตรเลือกตั้งให้เรียบร้อยและหย่อนบัตรลงในหีบบัตรเลือกตั้ง

คำเตือน!

  • ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องเข้าคูหาเลือกตั้งเพื่อลงคะแนนในเวลา 08.00 – 17.00 น. 
  • ห้ามนำบัตรเลือกตั้งออกจากเขตเลือกตั้ง หรือจงใจทำเครื่องหมายเพื่อเป็นที่สังเกต
  • ห้ามถ่ายภาพบัตรเลือกตั้งที่ได้ลงคะแนนเลือกตั้งแล้ว และห้ามนำบัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนแล้ว แสดงให้ผู้อื่นเห็นว่า ลงคะแนนหรือลงคะแนนไม่เลือกผู้สมัครใด
  • ต้องนำบัตรเลือกตั้งหย่อนลงหีบบัตรด้วยตนเอง
  • หากผู้ใดฝ่าฝืนข้อห้ามต้องระวางโทษจำคุก ปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง

ลงคะแนนเลือกตั้งแล้ว อย่างไรต่อ?

  1. กาเบอร์เดียวได้ผล 3 ประการ
    1.ผู้สมัครที่ได้คะแนนสูงสุดในเขตเลือกตั้ง จะได้เป็น ส.ส.ตัวแทนของเขต 
    2.คะแนนที่เลือกจะถูกนำไปรวมทั้งประเทศ เพื่อคำนวณจำนวนที่นั่ง ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อของพรรคนั้น
    3.ส.ส.ทั้งจากระบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อ จะไปรวมกันเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี
  2. ผู้สมัคร ส.ส.พรรคเดียวกัน คนละหมายเลข ในอดีตคนไทยคุ้นชินกับการจำหมายเลขพรรค เนื่องจาก ผู้สมัคร ส.ส.ที่มาจากพรรคเดียวกันจะใช้หมายเลขเดียวกันทั่วประเทศ แต่การเลือกตั้งครั้งใหม่นี้ แม้ ส.ส.จะมาจากพรรคเดียวกัน แต่อยู่คนละเขตก็อาจได้หมายเลขต่างกัน



    ทั้งนี้ เมื่อถึงเวลากาลงคะแนนเสียง ประชาชนจะต้องจำให้ได้ว่าผู้สมัครในเขตที่ตนเองหมายตาไว้นั้นใช้หมายเลขใด
  3. คะแนน Vote No มีความหมาย เขตเลือกตั้งที่ไม่มีผู้สมัครคนใดได้คะแนนเสียงมากกว่าคะแนนเสียงไม่เลือกผู้ใดเป็น ส.ส. (Vote No) เขตนั้นจะต้องทำการเลือกตั้งใหม่ โดยผู้สมัคร ส.ส.คนเดิมของทุกพรรคจะไม่สามารถลงสมัครได้อีก เพื่อให้ประชาชนได้เลือกผู้แทนที่ต้องการอย่างแท้จริง
  4. ส.ว.ที่มาจาก คสช.คัดเลือก โหวตนายกรัฐมนตรีได้ด้วย ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญปี 2560 กำหนดให้มีการคัดเลือก ส.ว. จำนวน 250 คน โดย ส.ว. 244 คน มาจากการคัดเลือกของ คสช.ในขั้นตอนสุดท้าย ขณะที่อีก 6 คน จะเป็น ส.ว.โดยตำแหน่ง โดย ส.ว.ทั้ง 250 คนนี้ มีสิทธิในการเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส.อีก 500 คน

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เลือกตั้ง 2562 : เปิดโผผู้ท้าชิงเก้าอี้นายกฯ

เลือกตั้ง 2562 : ถามใจเธอดู ! พร้อมแค่ไหน ศึกเลือกตั้ง'62

เลือกตั้ง 2562 : เช็กขั้นตอน-คุณสมบัติผู้สมัคร ส.ส.

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง