พรรคเพื่อไทยในเวลานี้ ไม่ใช่แค่การจับตาดูว่าใครเป็นเบอร์ 1 หรือเบอร์ 2 ระหว่างนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ และใครจะเป็นผู้สมัคร ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อลำดับที่เท่าไหร่เท่านั้น แต่นัยยะสำคัญมากกว่านั้นคือในบัญชีผู้สมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ มีชื่อนายชัยเกษม นิติสิริ อีกทั้งยังเป็น 1 ใน 3 รายชื่อนายกรัฐมนตรีในบัญชีของพรรคด้วย
แต่นายชัยเกษม ปฏิเสธข้อสังเกตที่ว่าพรรคเพื่อไทยวางตัวไว้ให้เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎ หรือประธานรัฐสภา แต่จับจากปฏิกิริยาของนายชัยเกษมแล้วนำมาวิเคราะห์ ต้องบอกว่าถ้อยคำนั้นจะแบ่งรับแบ่งสู้ แต่ถ้าจะวิเคราะห์กันจริงๆ ข้อสังเกตนี้มีความเป็นไปได้สูง ทั้งในแง่ของกลยุทธ์ทางการเมืองของพรรคเพื่อไทย และในแง่ของประสบการณ์ทางการเมือง ชีวิตราชการการ รวมถึงศักยภาพของนายชัยเกษม
ชัยเกษม นิติสิริ
นายชัยเกษม นิติสิริ เดิมเป็นอัยการสูงสุด ก่อนจะผันตัวมาลงสนามการเมืองในยุคของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และล่าสุดเป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม โดยถือเป็นแกนนำพรรคและเป็นมือกฎหมายระดับต้นๆ ของพรรคด้วย
เดิมตามโผ หรือตามที่คาดการณ์กันไว้ บัญชีนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย นอกจากคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ และนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ก็เชื่อกันว่าบุคคลที่ 3 จะเป็น พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ แต่สุดท้าย พรรคลงมติเลือกนายชัยเกษม นิติสิริ
ซึ่งแน่นอนว่าบัญชีนายกรัฐมนตรีของพรรคนั้น หน้าตาคือจุดขายของพรรค โดยคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ถ้าประเมินจากช่วงเวลาหาเสียงที่ผ่านมาและประสบการณ์ของคุณหญิง คือสัญลักษณ์ของนักการเมืองมืออาชีพ ขณะที่นายชัชชาติ คือสัญลักษณ์ของนักบริหารมืออาชีพ
ถึงตอนนี้ นายชัยเกษมได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีในบัญชีของพรรคและเป็นผู้สมัครในระบบบัญชีรายชื่อของพรรคด้วย ย่อมสะท้อนจุดเด่นการเป็นมือกฎหมายอาชีพ และอาจเป็นไปได้ว่านายชัยเกษมไม่ใช่ตัวยืนในการถูกเสนอให้ชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ทั้งหมด แต่คือตัวหลอก แต่ก็เป็นตัวจริงในเวทีของสภาผู้แทนราษฎร
เพราะมีรายงานว่าพรรคเพื่อไทย นอกจากจะกำหนดกลยุทธ์ทางการเมืองในแบบดาวกระจาย แตกตัว-แยกย่อย ไปจัดตั้งพรรคใหม่ เพื่อรองรับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ในการเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองใหม่แล้ว ยังแก้จุดอ่อนเรื่องการถูกบอนไซไปด้วย นอกจากจะประกาศเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลในขั้วการเมืองฝ่ายประชาธิไตยแล้ว
พรรคเพื่อไทยก็กำลังผุดเกมรุกทางการเมืองอีกกลยุทธ์หนึ่ง ด้วยการวางตัวนายชัยเกษม นิติสิริ เป็น 1 ใน 3 ในบัญชีนายกรัฐมนตรีของพรรค และเป็น 1 ในผู้สมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ นั่นคือการเตรียมคว้าเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 80 บัญญัติไว้ว่า ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภา เป็นรองประธานรัฐสภา
การขับเคลื่อนทางการเมืองในหลายๆ บริบท หลังการเลือกตั้ง ยึดโยงและเกี่ยวข้องกับบทบาทของประธานรัฐสภามากที่สุด โดยเฉพาะการประชุมรัฐสภาเพื่อลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี หรือแม้แต่การนำชื่อนายกรัฐมนตรีขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อแต่งตั้ง ซึ่งหากลองนึกภาพการเมืองในขณะนั้น ถ้านายชัยเกษม นิติสิริ จากพรรคเพื่อไทย ขึ้นไปนั่งบนบัลลังค์แล้ว จะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง