วันนี้ (6 ก.พ.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ใช้เวลากว่า 1 ปี ในการผลักดันให้ปลากัดเป็นสัตว์น้ำประจำชาติ ล่าสุด คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบแล้ว โดยสาระสำคัญของการเสนอให้ปลากัดเป็นสัตว์น้ำประจำชาติ ประกอบด้วยเหตุผล 3 ด้าน คือ 1. ด้านวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ 2. ด้านความเป็นเจ้าของและความมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และ 3. ด้านประโยชน์ใช้สอย
สำหรับปลากัดมีการเลี้ยงอย่างแพร่หลาย มีการขยายพันธุ์มากขึ้น ปัจจุบัน ส่งออกปลากัดไทยไปแล้วกว่า 95ประเทศ ปริมาณการส่งออกระหว่างปี 2556-2560 มีประมาณ 20.85 ล้านตัวต่อปี มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 115.45 ล้านบาทต่อปี หรือ 5.42 บาทต่อตัว และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี
ปลากัด แม้จะมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันไป แต่มีที่มาจากสายพันธุ์เดียวกับปลากัดป่าของไทย โดยเกษตรกรไทยเพาะเลี้ยงปลากัดทั่วประเทศ แต่มีแหล่งใหญ่ที่สุดอยู่ที่ จ.นครปฐม ขณะนี้มีเกษตรกรขึ้นทะเบียนกับกรมประมง จำนวน 1,500 ราย ไม่นับรวมผู้ที่ชื่นชอบ แต่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนอีกนับแสนราย ซึ่งปลากัดไทยสามารถสร้างอาชีพที่มั่นคงให้กับชุมชนได้
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ไฟเขียว “ปลากัดไทย” เป็นสัตว์น้ำประจำชาติ
กรมประมงดัน “ปลากัด” เป็นสัตว์น้ำประจำชาติ ตั้งเป้าสร้างรายได้ปีละ 3 พันล้าน