สร้างความคึกคักและเป็นกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ ที่เฝ้ารอตั้งแต่แม่เต่ามะเฟืองขึ้นมาวางไข่ครั้งแรก เมื่อวันที่ 17 ธ.ค.2561 จนกระทั่งลูกเต่ามะเฟือง ตัวแรกเดินขึ้นจากหลุมทรายที่ชายหาดคึกคักเมื่อช่วงค่ำวานนี้ (11 ก.พ.2562) โดยเฉพาะ วิโรจน์ เอียดสงคราม เจ้าหน้าที่ สบทช.8 เจ้าหน้าที่จากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งคนที่ ที่มีโอกาสได้เห็นลูกเต่าตัวแรก
ดีใจมาก ตอนที่เห็นลูกเต่าตัวแรก และได้จับลูกเต่าที่ขึ้นจากหลุมมาพาไปลงทะเล ภาวนาให้เขารอดปลอดภัย
รวมเวลา 56 วัน ที่ศูนย์เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์เต่ามะเฟือง ทำงานอย่างเข้มข้น ตั้งแต่วันแรกที่แม่เต่าขึ้นวางไข่ เริ่มจากเคลื่อนย้ายไข่เต่าในรังไปยังพื้นที่เหมาะสม น้ำท่วมไม่ถึงล้อมรั้วป้องกันภัยคุกคามจากสัตว์อื่น ติดตั้งกล้องวงจรปิดถึง 6 ตัว เพื่อสังเกตความเปลี่ยนแปลง
รวมทั้งติดตั้งเครื่องวัดอุณหภูมิ เพื่อประเมินระยะฟักตัวและเพศของลูกเต่ารวมทั้งจัดเวรเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง จนกระทั่งเมื่อวานนี้ ลูกเต่าฟักตัว เจ้าหน้าที่ยังคงดูแลอย่างใกล้ชิด คอยช่วยขุดหลุมและประเมินร่างกายให้ลูกเต่าแข็งแรง ก่อนส่งพวกมันกลับสู่ทะเล
ภาพ :กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
การปรากฎตัวของลูกเต่ามะเฟือง 49 ตัวที่ค่อยๆ คลานลงทะเลพังงา สร้างความยินดีให้กับเจ้าหน้าที่และภาคประชาชนที่ทำงานด้านการอนุรักษ์อย่างมาก จากนี้ทะเลจะเป็นสถานที่อนุบาลพวกมัน ถ้าจะให้รอดต้องให้ลงไปใช้ชีวิตในทะเลเท่านั้น
นายก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน กล่าวว่า จากการทดลองมาหลายปี และทั่วโลกพยายาม เพาะอนุบาลเต่ามะเฟืองให้รอด แต่ยังไม่มีใครทำสำเร็จ
เนื่องจากมีข้อจำกัดพฤติกรรมการกินอาหาร และการว่ายน้ำ และลักษณะของกายภาพของเต่ามะเฟือง ที่มีความอ่อนแอต่อการติดเชื้อได้ง่าย ทางรอดคือต้องใช้ชีวิตในทะเล
ภาพ :กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
มาตรการดูแลเต่ามะเฟืองของเจ้าหน้าที่ยังต้องทำต่อเพราะอีก 10 วันหลังจากนี้ ไข่เต่ารังที่ 2 จะครบกำหนดอยู่ในช่วงฟักตัว ตามด้วยลูกเต่ารังที่ 3 ซึ่งอยู่บริเวณหาดท้ายเหมือง
ขณะที่โครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งเพื่อรักษาพื้นที่วัดท่าไทร ซึ่งห่างจากหลุมไข่เต่ามะเฟือง ประมาณ 200 เมตร ชะลอการก่อสร้างออกไปตามคำสั่งของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อปรับแบบก่อสร้างให้มีความเหมาะสม
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
“ลูกเต่ามะเฟือง” 49 ตัวรังแรกหาดคึกคักออกท่องทะเล