รู้จักเพลงหนักแผ่นดิน 44 ปี ยังเข้ายุคสมัย

การเมือง
18 ก.พ. 62
13:04
14,766
Logo Thai PBS
 รู้จักเพลงหนักแผ่นดิน 44 ปี ยังเข้ายุคสมัย
ติดเทรนด์โซเชียล #หนักแผ่นดิน ภายในชั่วโมง ทำให้เพลงที่ถูกแต่งขึ้นตั้งแต่ปี 2518 กลับมาอยู่ในกระแสอีกครั้ง ขณะที่เด็กรุ่นใหม่ สะท้อนว่าเนื้อหาเพลงที่ถูกนำมาใช้ในช่วงนี้อาจต้องการสื่อถึงการไม่สร้างความแตกแยก

หากพูดถึงกระแสแฮทแท็กในโซเซียลอันดับหนึ่งวันนี้ หนึ่งในคำฮิตคือ#หนักแผ่นดิน ซึ่งถือเป็นวาทะที่พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก และเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตอบกับผู้สื่อข่าวกรณีพรรคการเมืองหาเสียงว่าเสนอตัดงบกองทัพและเลิกการเกณฑ์ทหาร 

เมื่อผู้สื่อข่าวตอบไม่ถูกต้อง พล.อ.อภิรัชต์ จึงเฉลยให้ฟังแต่จะเป็นเพลงอะไร

“ เพลงอะไรที่กำลังฮิตตอนนี้ ก็เพลงหนักแผ่นดินไง”

เมื่อตรวจสอบในกระแสโซเซียล ขณะนี้เริ่มมีการพูดถึงเนื้อเพลงหนักแผ่นดินกันอย่างแพร่หลาย

 

โดยเพลงหนักแผ่นดิน แต่งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2518 ออกอากาศทางสถานีวิทยุ จ.ส. กรมการสื่อสารทหารบก กองทัพบก ในการต่อสู้ทางการเมืองกับ “ขบวนการคอมมิวนิสต์” ในช่วง พ.ศ. 2518-2523 ประพันธ์คำร้องโดย พ.อ.บุญส่ง หักฤทธิ์ศึก ขับร้องโดย ส.อ.อุบล คงสิน และ ศิริจันทร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา มีเนื้อเพลงว่า 

คนใดใช้ชื่อไทยอยู่ กายก็ดูเหมือนไทยด้วยกัน

ได้อาศัยโพธิ์ทองแผ่นดินของราชันย์ แต่ใจมันยังเฝ้าคิดทำลาย

คนใดเห็นไทยเป็นทาส ดูถูกชาติเชื้อชนถิ่นไทย

แต่ยังฝังทำกิน กอบโกยสินไทยไป เหยียดคนไทยเป็นทาสของมัน

 หนักแผ่นดิน หนักแผ่นดิน คนเช่นนี้เป็นคนหนักแผ่นดิน (หนักแผ่นดิน!)

หนักแผ่นดิน หนักแผ่นดิน คนเช่นนี้เป็นคนหนักแผ่นดิน (หนักแผ่นดิน!)

คนใดยุยงปลุกปั่น ไทยด้วยกันหวังให้แตกกระจาย

ปลุกระดมมวลชนให้สับสนวุ่นวาย เพื่อคนไทยแบ่งฝ่ายรบกันเอง

คนใดหลงชมชาติอื่น ชาติเดียวกันเขายืนข่มเหง

ได้สินทรัพย์เจือจานก็ประหารไทยกันเอง ทีชาติอื่นเกรงดังญาติของมัน

คนใดขายตนขายชาติ ได้โอกาสชี้ทางให้ศัตรู

เข้าทลายพลังไทยให้สลายทางสู้ เมื่อศัตรูโจมจู่เสียทีมัน

คนใดคิดร้ายราวี ประเพณีของไทยไม่ต้องการ

เกื้อหนุนอคติ เชื่อลัทธิอันธพาล แพร่นำมันมาบ้านเมืองเรา

คนรุ่นใหม่สะท้อนเพลงลดความแตกแยก 

โดยเฟชบุ๊ก Chulcherm Yugala หม่อมเจ้าจุลเจิม ยุคล ทรงโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ระบุว่ามิได้จะพูดถึงเรื่องการเมืองแต่อย่างใด.. มิได้ชี้นำแต่อย่างใด.. แค่จะบอกว่าเพลงนี้ แต่งมาสี่สิบกว่าปีแล้ว (ลูกหลานบางคนยังไม่เกิด) ร้องกันมาหลายเวอร์ชั่น (ทั้งเอาไปสร้างภาพยนต์ยุค สมบัติ เมทินีด้วย) แต่พอได้ยินอีกครั้ง ทำไมเนื้อร้องช่างเข้ายุคเข้าสมัยกับปัจจุบันจังเลย

ไทยบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์ น.ส.ทิพากร ไชยประสิทธิ์ นักศึกษาคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เคยได้ยินเพลงหนักแผ่นดินครั้งแรกในช่วงวิชาการเรียนปรับพื้นฐานตอนเข้ามหาวิทยาลัยปี 1 เกี่ยวกับเรื่องของประวัติศาสตร์การเมือง

ถ้าเราอยู่ในมุมเดียวกับผู้แต่งเพลงนี้แล้ว รู้สึกว่าใช่และเกิดความฮึกเหิม เพราะจะรู้สึกว่าฝ่ายตรงข้ามไม่ได้มีความเป็นมนุษย์ ยิ่งกว่าการเป็นคนไม่ดี เพราะมีความคิดต่างทางความคิด คนกลุ่มนี้จะต้องถูกกำจัด

แต่พอโตขึ้น และได้ศึกษาเนื้อหาของเพลงนี้แล้ว ได้กลับมาทบทวนใหม่ รู้สึกว่าเนื้อหาเพลงต้องการสะท้อนให้เห็นว่าเป็นการแก้ไขปัญหาที่ใช้ความรุนแรง แต่ปัญหาก็ยังจัดการไม่ได้ หรือจัดการได้ในเชิงของการจัดการแล้วสิ้นสุด แต่ปัญหาไม่จบ

 

 

ส่วน น.ส.ผาณิต ฆาตนาค ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรก บอกว่า เคยได้ฟังเพลงหนักแผ่นดินครั้งแรกเมื่อปี 2549 ในช่วงที่มีการรัฐประหาร ช่วงนั้นยังเด็กมาก จึงทำให้ไม่เข้าใจเนื้อหา แต่รู้สึกได้ถึงบรรยากาศที่อึดอัดภายในบ้าน และในชุมชน เด็กต้องหยุดเรียน ออกไปข้างนอกต้องรีบกลับบ้าน เมื่ออยู่ในบ้านก็จะได้ฟังแต่เพลงหนักแผ่นดิน พร้อมกับท่อนเดิมซ้ำๆ เหมือนชื่อเพลง

เมื่อมีการหยิบยกเพลงนี้ขึ้นมาพูดถึงอีกครั้ง หลังจากที่ได้ลองฟังเพลงฉบับเต็มอย่างตั้งใจ ก็ทำให้รู้สึกถึงนัยยะบางอย่างที่ ผบ.ทบ.อาจต้องการควบคุมสถานการณ์ โดยเฉพาะในช่วงที่กำลังจะมีการเปลี่ยน แปลงครั้งสำคัญของประเทศไทย อย่างการเลือกตั้งในวันที่ 24 มี.ค.นี้

การบอกให้ไปฟังเพลงนี้อาจเป็นการเตือนให้นักการเมือง ซึ่งอยู่ในช่วงหาเสียง อยู่ในกรอบและกติกา และไม่สร้างสถานการณ์ให้ประเทศเกิดความแตกแยก

ขณะที่ทวีตเตอร์ของ prajak kong อาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิท ยาลัยธรรมศาสตร์  ระบุว่า เพลง #หนักแผ่นดิน เป็นเพลงที่ขบวนการฝ่ายขวาใช้ปลุกระดมความเกลียดชังต่อนศ.และประชาชนที่เคลื่อนไหวเรียกร้องค.เป็นธรรมทางสังคมหลัง 14 ตุลา การปลุกระดมกระทำผ่านวิทยุของหน่วยงานค.มั่นคง, กองทัพและสื่อฝ่ายขวา จนนำไปสู่โศกนาฏกรรมสังหารหมู่นศ.ที่ธรรมศาสตร์ ในวันที่ 6 ตุลา 2519

 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

"เพื่อไทย"ปราศรัยใหญ่ ชู 5 มาตรการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ

ถอดรหัส "อภิรัชต์" ทำไมต้องเพลงนี้ "หนักแผ่นดิน"

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง