ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

รู้จักกล้อง NCAPS "สายลับ" จับคนตัดไม้

Logo Thai PBS
รู้จักกล้อง  NCAPS "สายลับ" จับคนตัดไม้
เปิดปฏิบัติการกล้องเอ็นแคป ร่วมกับชุดลาดตระเวนเชิงคุณภาพ อุทยานแห่งชาติทับลาน สามารถช่วยจับก่อนตัดไม้พะยูง ในเขตป่าทับลานได้ผล พบคดีลักลอบลดลงเกินครึ่งจากเดิมเฉลี่ย 10 คดีต่อเดือน ล่าสุดจับกัมพูชา 12 คนเตรียมตัดไม้

วันนี้ (18 ก.พ.2562) นายประวัติศาสตร์ จันทร์เทพ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน กล่าวว่า เมื่อวานนี้ ( 17 ก.พ.) เจ้าหน้าที่ชุดลาดตระเวนเชิงคุณภาพ ร่วมกับทหารสามารถจับผู้ต้องหาชาวกัมพูชา 17 คนในเขตป่าอุทยานแห่งชาติทับลาน อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา พร้อมของกลางเลื่อยยนต์ 1 เครื่อง  ปืนแก๊ป 1 กระบอก เป้เสบียง จำนวน 37 ใบมีข้าวสารอาหารแห้ง และสิ่งของที่ใช้ในการดำรงชีพในป่าจำนวนมาก 

โดยผู้ต้องหารับสารภาพว่า หลบหนีเข้าประเทศไทย ผ่านทางช่องทางธรรมชาติแนวรอยต่อ จ.จันทบุรี และมีนายหน้าพามาส่งแนวชายป่าอุทยานแห่งชาติทับลาน โดยมีคนไทยคอยเป็นผู้นำทางเข้าไปตัดไม้พะยูง แต่ก็มาเจอกับเจ้าหน้าที่เสียก่อน ซึ่งการจับกุมคดีนี้ ถือเป็นความสำเร็จของการนำเทคโนโลยีระบบกล้องเอ็นแคป (NCAPS)  มาใช้โดยติดตั้งซุกซ่อนกล้องไว้ตามจุดเสี่ยงต่างๆในพื้นที่อุทยาน

หลังจากติดตั้งเอ็นแคปในจุดเสี่ยงต่างๆ รวม 60 จุดครอบคลุมถึงอุทยานแห่งชาติปางสีดา อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติตาพระยา พบว่า 60% สามารถจับกุมคนที่เข้ามาพื้นที่อุทยานได้ก่อนที่จะลงมือตัดไม้

กล้องเอ็นแคปช่วยคดีตัดไม้ลดลงเกินครึ่ง

หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน กล่าวว่า ทั้งนี้หากเทียบช่วง 1-2 ปีก่อนหน้าจะใช้กล้องเอ็นแคปในปี 2558 มีคดีจับตัดไม้ เฉลี่ยเดือนละ 10 กว่าคดี แต่ในปีช่วงเดือน ต.ค.2561- ก.พ.2562 พบว่ามีคดี 5 คดี และส่วนใหญ่จับได้ในพื้นที่เขตป่าสงวน

ซึ่งนอกจากกล้องเอ็นแคปจะมาช่วยแล้ว ยังมีปัจจัยทำงานเข้มข้น ทั้งลาดตระเวนเชิงคุณภาพ การสั่งการสนับสนุน กำลังทหารมาช่วยในฝั่ง จ.นครราชสีมา แต่ไม่เชื่อปัญหาจะหมดไป เพราะไม้ยังมีราคาสูง และคนตัดก็รอจังหวะ เจ้าหน้าที่จึงไม่ประมาท โดยเฉพาะในพื้นที่ป่าลึก เส้นทางที่ปกติคนจะเข้ามาตัดไม้ล่าสัตว์ 

กล้องเอ็นแคป เป็นเทคโนโลยีใหม่ สามารถตรวจเฝ้าระวังได้ แบบเรียลไทม์ เหมือนมีผู้ช่วยเจ้าหน้าที่ เราใช้คนอาจจะไม่รู้เลยว่าพวกตัดไม้จะมาเวลาไหน แต่ตัวกล้องจะไม่หลับ และเที่ยงตรงเสมอ ถ้าเห็นในกล้องปั้ป การจัดชุดเคลื่อนที่เร็วเข้าถึงจุดที่เจอจับได้ทันที

 

ทั้งนี้พบว่าเปอร์เซ็นต์กับจับก่อนตัด และจับหลังตัด มีเกินครึ่งจำนวนคดีที่จับได้ 3 ปี ผลมาจากระบบกล้องเอ็นแคป 60 เปอร์เซ็นต์ และประสิทธิภาพของกล้องเอ็นแค็ป ตอนนี้ไมได้ใช้เป็นผู้ช่วยเฝ้าระวังคนตัดไม้ แต่ยังเฝ้าคนลักลอบจุดไฟเผาป่า เฝ้าระวังช้างป่า และติดตามพฤติกรรมของสัตว์ป่าในอุโมงค์เชื่อมผืนป่าทับลาน 

ก่อนหน้านี้ เมื่อ 27 ม.ค.2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชุดเฉพาะกิจอุทยานแห่งชาติทับลาน จ.นครราชสีมา ร่วมกับทหารและฝ่ายปกครอง อ.ครบุรี ตรวจยึดของกลางเป็นไม้พะยูง 252 แผ่น รถยนต์ 3 คัน และเลื่อยโซ่ยนต์ 9 เครื่องได้ผู้ต้องหากว่า 90 คน

 

ภาพ: กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์ุพืช

ภาพ: กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์ุพืช

ภาพ: กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์ุพืช

 

รู้จักประสิทธิภาพของ NCAPS 

สำหรับกล้อง NCAPS  เพจเฟซบุ๊กส่วนประชาสัมพันธ์กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ระบุว่า คืออะไร? ทำไม? คนที่จะเข้าไปทำลายทรัพยากรธรรมชาติต้องกลัว...เราไม่ได้ขู่...แต่เราทำให้เห็นถึงประสิทธิภาพของมันมาแล้ว

NCAPS คือ การนำเทคโนโลยี "ระบบกล้องเอ็นแคป" มาใช้โดยติดตั้งซุกซ่อนกล้องไว้ตามจุดเสี่ยงต่างๆในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ซึ่งแต่ละจุดที่ตั้งกล้องนั้นอาศัยฐานข้อมูลภัยคุกคามจากการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ

เมื่อกล้องเอ็นแคปดักถ่ายภาพได้ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ป่าหรือคน ระบบจะส่งภาพแจ้งเตือนมายังระบบเครือข่ายศูนย์กลาง หากพบว่าเป็นการกระทำผิดกฎหมายเจ้าหน้าที่จะดำเนินการตามแผนงานจนนำไปสู่การจับกุมผู้กระทำผิดได้อย่างทันท่วงที

 

 

ถือได้ว่าเป็นการตอบโจทย์การป้องกันรักษาไว้ซึ่งทรัพยากรก่อนจะถูกตัดหรือถูกล่าได้อย่างมีประสิทธิ ภาพ หรือที่เราเรียกกันว่า "มาตรการจับก่อนตัด" จากเทคโนโลยีกล้องดักถ่ายภาพเพื่อข้อมูลอย่างแม่นยำยังมีอีกหลายเทคโนโลยีที่กำลังมีการศึกษาและพัฒนาระบบเพื่อให้สอดคล้องกับการทำงานการลาดตระเวนเชิงคุณภาพของระบบ เช่น การใช้โดรน เครื่องบินเล็ก

การขยายผลการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ เพื่อการอนุรักษ์สัตว์ทะเล การพัฒนาระบบแอพลิเคชั่น ร่วมกับสมาร์ทโฟนในระบบแอนดรอยด์ กล้องดิจิตอล และ GPS ระบบการส่งข้อมูลผ่านสัญญาณ WiFi ในภาคสนามผ่านระบบดาวเทียมเข้ามายังศูนย์ปฏิบัติการ

ทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งของความพยายามพัฒนาเทคโนโลยีเหล่านี้ เข้ามาใช้เพื่อให้งานลาดตระเวนเชิงคุณภาพมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ไม่เพียงแต่การพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีเท่านั้น การพัฒนาบุคลากรทั้งระบบก็มีความจำเป็นไม่ยิ่งหย่อนกัน เป็นส่วนเรียงร้อยกระบวนการทั้งหมดของระบบการลาดตระเวนเชิงคุณภาพให้มีประสิทธิภาพ และทันตามยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่หยุดนิ่ง

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

รวบแก๊งลักลอบตัดไม้พะยูง-ล่าสัตว์กลางป่าบุณฑริก

จับกลุ่มลักลอบตัดไม้พะยูงอุทยานฯ ทับลาน ได้ 95 คน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง