ตั้งเเต่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. รื้อแผนแม่บท ย้ายตำแหน่งที่ตั้งอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มาอยู่บริเวณทิศเหนือปลายอาคารเทียบเครื่องบิน A ทำให้เสียงคัดค้านจากประชาชน และองค์กรวิชาชีพด้านสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมดังขึ้นเรื่อย ๆ สาระสำคัญคือ ที่ตั้งใหม่ไม่สอดคล้องกับโครงสร้างพื้นฐานของสนามบินที่มีอยู่เดิม ทำให้เกิดปัญหาทางเทคนิค ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการสัญจรทั้งภาคอากาศและภาคพื้น การจราจรเข้าออกสนามบิน และเพิ่มต้นทุนในระยะยาว
ย้อนกลับไปช่วงกลางเดือนตุลาคม 2561 องค์กรวิชาชีพ 12 องค์กร เช่น สมาคมสถาปนิกสยาม สมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย และสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย เปิดเวทีสาธารณะและ มีมติไม่เห็นด้วยที่ ทอท.จะเดินหน้าก่อสร้างอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 2 เนื่องจากมาสเตอร์แพลนเดิมเหมาะสมอยู่แล้ว
ความเห็นต่าง ๆ ถูกรวบรวมและยื่นเป็นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขอให้มีคำสั่งชะลอและทบทวนโครงการดังกล่าว โดยเหตุผลหนึ่ง ระบุว่า การปรับแผนแม่บทของ ทอท. ที่จะวางอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 2 ในฝั่งตะวันออกของอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 1 ไม่ได้มีการวิเคราะห์ผลกระทบ เช่น ทางวิ่งจะเสียสมดุลด้านการบิน ความแออัดในสนามบิน ทั้งนอกเขตการบิน ในเขตการบิน และทางขับเครื่องบิน ซึ่งเป็นความเสียหายที่นอกเหนือจากงบประมาณลงทุนกว่า 40,000 ล้านบาท โดยก่อนหน้านั้นไม่นาน สภาวิศวกรได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีในเรื่องนี้เช่นกัน
นายไกร ตั้งสง่า อุปนายกสภาวิศวกรอธิบายให้เห็นภาพว่า แผนแม่บทเดิม เป็นการมองความสมดุลทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น ซ้าย ขวา หน้า หลัง หากเป็นการก่อสร้างตามแบบ ทอท. ความสมดุลจะหายไป โดยโครงสร้างจะเอียงไปทางทิศตะวันออกแทน ดังนั้นดำเนินการตามแผนเดิมจะเหมาะสมกว่า แต่หากเลือกเดินหน้าต่อจะเกิดความเสียหายต่อประเทศอย่างมาก
แต่ในการประชุมคณะกรรมการ ทอท. วันนี้ (20 ก.พ.2562) มีมติรับทราบความคืบหน้าแนวทางการดำเนินงานโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร หลังที่ 2 ตามที่ฝ่ายบริหาร ทอท. เสนอ และยกเลิกมติคณะกรรมการ ทอท.ในการประชุมครั้งที่ 9/2561 เมื่อวันที่ 22 ส.ค.2561 ที่อนุมัติให้จ้างกลุ่มนิติบุคคลร่วมทำงานดีบีเอแอลพี-นิเคนเซกเก หรือกลุ่มดวงฤทธิ์ บุนนาค ซึ่งเป็นผู้ชนะการประกวดแบบโครงการก่อสร้างกลุ่มอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ประเด็นเหล่านี้ทำให้กลุ่มผู้ที่เคยคัดค้านเบาใจขึ้น แต่ต้องรอดูความชัดเจนของคณะกรรมการ ทอท. ในระยะต่อไป
นอกจากนี้ คณะกรรมการ ทอท. เห็นชอบแนวทางในการให้สิทธิประกอบกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ณ ท่าอากาศยานในความรับผิดชอบของ ทอท. โดยให้แยก 3 สัญญาใหญ่ ได้แก่ กิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร (Duty Free) กิจกรรมเชิงพาณิชย์ (Retail, F&B, Service และ Bank) และกิจการให้บริการเคาน์เตอร์ส่งมอบสินค้าปลอดอากร (Duty Free Pick-up Counter) ออกจากกัน โดยเน้นให้เปิดกว้างและมีการแข่งขันกันอย่างเสรี โดยเฉพาะกิจการให้บริการเคาน์เตอร์ส่งมอบสินค้าปลอดอากร (Duty Free Pick-up Counter) เพื่อให้ผู้ประกอบการในเมือง สามารถส่งมอบสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานในความรับผิดชอบของ ทอท.ได้ ซึ่งก่อนหน้านี้ นายวรวุฒิ อุ่นใจ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ต้องการเห็นการแข่งขันที่เป็นธรรม
ทั้งนี้ วันพรุ่งนี้ (21 ก.พ.2562) สมาคมผู้ค้าปลีกไทย จะให้ข้อมูลที่คณะกรรมการ ทอท. มีมติหลักเกณฑ์การประมูลให้สัมปทานดิวตี้ฟรีในวันนี้ด้วย ซึ่งต้องติดตามว่าจะมีความเห็นต่อมติของคณะกรรมการ ทอท. อย่างไร