วันนี้ (26 ก.พ.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าผู้ใช้เฟซบุ๊ก ธงชัย พุ่มพวง อดีตข้าราชการกรมส่งเสริมการเกษตร เขต 6 จ.เชียงใหม่ ได้โพสต์ข้อความว่า หลังเกษียณอายุราชการแล้ว นึกว่าจะสบาย กรรมเก่าแต่ชาติปางก่อนตามมาทันแล้ว..ค้ำประกัน กยศ.หวังให้ลูกเพื่อนเรียนจบ..แต่ตรงกันข้าม จบแล้วไม่ยอมส่งสะงั้น เงินต้น 8 หมื่นบาท เพิ่มเป็น 1.2 แสนบาท แถมคนที่กู้เป็นหลาน นสพ.ตระกูลดังในภาคเหนืออีก..ตอนนี้ สนง.บังคับคดียึดบ้านที่ผมอยู่อาศัยแล้ว ครอบครัวระหองระแหง..เอ้อหนอ เวรกรรมที่เห็นในชาตินี้
ทนไม่ไหวแล้ว เพราะจะต้องเสียเงินให้คนอื่นโดยใช่เหตุ ทั้งที่ต้องใช้เงินเลี้ยงครอบครัวเดือนละ 2,000 บาท ถูกยึดไป 100,000 กว่าบาท จึงจำเป็นต้องออกมาทำแบบนี้
นายธงชัย กล่าวว่า ปี 2547 เขาได้ค้ำประกันเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาให้กับบุตรสาวของของเพื่อนที่ทำงานด้วยกันเป็นจำนวนเงิน 83,783 บาท หลังเรียนจบบุตรสาวของเพื่อนรุ่นน้องไม่ชำระเงินคืนให้กับ กยศ.จนกระทั่งเดือนส.ค.2551 ทาง กยศ.มีหนังสือเรียกให้หญิงสาวคนดังกล่าวไปไกล่เกลี่ย และชำระหนี้รวมดอกเบี้ยเป็นเงินทั้งหมดกว่า 120,000 บาท โดยให้ผ่อนชำระเดือนละ 900 บาท แต่บุตรสาวของเพื่อนรุ่นน้องก็ไม่ยอมชำระ จนผ่านมาเกือบ 10 ปี
ต่อมากรมบังคับคดีได้ส่งหนังสือประกาศยึดบ้าน เขาจึงได้เข้ากระบวนการเจรจาไกล่เกลี่ยยอมผ่อนชำระเดือนละ 6,355 บาทเป็นเวลา 20 เดือน แต่ระยะหลังเขาเริ่มแบกภาะระค่าใช้จ่ายไม่ไหวเนื่องจากได้รับบำนาญเพียงเดือนละกว่า 10,000 บาทเท่านั้น

ภาพ: ธงชัย พุ่มพวง
ภาพ: ธงชัย พุ่มพวง
ระบุไม่มีทางออก ญาติลูกหนี้ปฎิเสธช่วยเหลือ
ล่าสุดผู้เสียหายได้ติดต่อไปยังครอบครัวเพื่อนรุ่นน้อง แต่ได้รับการชี้แจงว่าเสียชีวิตไปแล้ว และทางญาติก็ปฏิเสธไม่ขอรับผิดชอบเรื่องนี้ ทำให้นายธงชัย ไม่มีทางออก จึงออกมาเรียกร้องต่อสังคมดังกล่าว
โดยในเฟซบุ๊ก ของนายธงชัย มีภาพและคลิป โดยเฉพาะรถสามล้อบรรทุกขนาดเล็กที่มีกระดาษที่เขียนข้อความถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับตัวเองติดรอบคัน เช่น ผมเดือดร้อนเพราะค้ำประกันญาติ นสพ. ญาติตระกูลใหญ่ กู้เงินกญส.แล้วไม่ยอมชำระหนี้! ผมเป็นผู้คำประกันโดยยึดบ้าน ค้ำประกันแล้วโดนดกง..ใครก็มองว่าโง่
ขณะที่ก่อนหน้านี้เคยมีกรณี น.ส.วิภา บานเย็น ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยน้อย ต.แม่ลาด อ.คลอง ขลุง จ.กำแพงเพชร เคยเป็นผู้คำประกันให้ลูกศิษย์เพื่อกู้เงินกองทุนให้กู้ยืนเพื่อการศึกษา (กยศ.) ตั้งแต่ปี 2541-2542 จำนวน 60 คน แต่ลูกศิษย์ไม่ยอมจ่ายเงินคืน จึงถูกฟ้องดำเนินคดีและยึดทรัพย์
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของ กยศ.พบว่าปัจจุบันการค้ำประกันผู้กู้เงิน กยศ.ร้อยละ 85 เป็นพ่อแม่ อีกร้อยละ 14 เป็นญาติ พี่น้อง ส่วนคุณครูมีสัดส่วนค้ำประกันร้อยละ 0.1

กยศ.สั่งชะลอขายทอดตลาดบ้านที่ถูกยึด-ตามทวงหนี้
ไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์ นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กล่าวว่า ได้รับทราบเคสนี้จากสื่อแล้ว เบื้องต้นการที่คนค้ำถูกยึดทรัพย์ แสดงว่าการสืบทรัพย์ไม่พบทรัพย์ของลูกหนี้กยศ. โดยจะเร่งตรวจสอบลูกหนี้ว่าอยู่ในระยะของการหักเงินหรือไม่ รวมทั้งทำงานในส่วนของภาครัฐ เอกชนหรือไม่อย่างไรเพื่อตามให้ชำระหนี้
เบื้องต้นสิ่งที่ทำได้คือจะชะลอการขายทอดตลาดทรัพย์ของผู้ค้ำหนี้ เอาไว้ก่อน และจะส่งทีมไปติดตามเคสนี้อย่างใกล้ชิด
นายชัยณรงค์ กล่าวว่า ขณะที่ภาพรวมหลังจาก กยศ.ประสานหักเงินชำระหนี้ กยศ.สำหรับข้าราชการกรมบัญชีกลางได้แล้ว 160,000 คน เป็นยอดเงินเดือนประมาณ 220 ล้านบาท และเดือน ก.พ.แจ้งหักบัญชีในส่วนของ อบต.และอบจ.และ เทศบาลกว่า 7,000 แห่ง และภาคเอกชนรายใหญ่อีก 50 แห่งที่อยู่ในข่ายอีก 1 แสนคนน่าจะได้ปะมาณ 100 ล้านบาท ซึ่งปีนี้สามารถหักเงินลูกหนี้กยศ.ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 30 กว่า 30,000 ล้านบาท
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
"กรมบังคับคดี-กยศ." ชะลอยึดทรัพย์ครูถูกลูกศิษย์เบี้ยวหนี้
ปีหน้า! กยศ.ตั้งเป้าหักเงิน 1 ล้านคน แก้ปัญหาเบี้ยวหนี้
ข้าราชการ 6 หมื่นคนเบี้ยวจ่ายหนี้กยศ.เจอหักเงินเดือนม.ค.2561