ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

นักวิเคราะห์เชื่อเจรจา "คิม-ทรัมป์" ไม่ล้มเหลว แม้ประชุมล่ม

ต่างประเทศ
1 มี.ค. 62
15:11
642
Logo Thai PBS
นักวิเคราะห์เชื่อเจรจา "คิม-ทรัมป์" ไม่ล้มเหลว แม้ประชุมล่ม
ผู้นำเกาหลีเหนือมีกำหนดการเยือนเวียดนามเป็นเวลา 2 วัน ภายหลังการประชุมสุดยอดกับผู้นำสหรัฐฯ สิ้นสุดลง ขณะที่นักวิเคราะห์เชื่อว่าแม้การประชุมครั้งนี้จะล้มเหลว แต่ไม่ได้ทำให้กระบวนการเจรจาของทั้ง 2 ฝ่ายล้มเลิก

วันนี้ (1 มี.ค.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายคิม จองอึน ผู้นำสูงสุดเกาหลีเหนือ ยังคงอยู่ในกรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ซึ่งมีกำหนดการเยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 1-2 มี.ค.นี้ โดยคิมจะเข้าพบประธานาธิบดีเหวียน ฝู จอง ของเวียดนามในช่วงเย็นวันนี้ และจะเข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำอย่างเป็นทางการ ส่วนวันพรุ่งนี้ (2 มี.ค.) ผู้นำเกาหลีเหนือจะเดินทางไปอนุสรณ์สถานโฮ จิ มินห์ และเข้าพบนายกรัฐมนตรีเหวียน ซวน ฟุก

ขณะที่ชาวเวียดนามหลายคนแสดงความรู้สึกเสียดายที่การประชุมจบแบบกระทันหัน เพราะชาวเวียดนามอยากให้กรุงฮานอยถูกบันทึกไว้ฐานะที่เป็นประเทศที่มีส่วนร่วมในการสร้างสันติภาพบนคาบสมุทรเกาหลี ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ถือว่าเป็นหายนะ เพราะกระบวนการเจรจายังคงมีอยู่

การเป็นเจ้าภาพของเวียดนามในครั้งนี้ แม้ว่าจะไม่ทำให้เกิดข้อตกลงที่เป็นรูปธรรมที่จะนำไปสู่การสร้างสันติภาพบนคาบสมุทรเกาหลี แต่อย่างน้อยก็ทำให้คนทั้งโลกได้รู้จักและมองเห็นศักยภาพของเวียดนามว่าสามารถจัดการประชุมครั้งสำคัญได้เป็นอย่างดี และยังรับมือกับสื่อมวลชนนับพันจากทั่วโลกได้อย่างดีเช่นกัน

นักวิเคราะห์เชื่อประชุมล่ม แต่การเจรจาไม่ล้มเหลว

แดเนี่ยล เดวิส นักวิเคราะห์จาก Foreign Policy and Defense เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรจากสหรัฐอเมริกา มองว่าการประชุมที่ล้มเหลว ไม่ได้หมายความว่ากระบวนการเจรจาจะล้มเหลวไปด้วย เชื่อว่านี่คือการถอยหลังไปตั้งหลัก ก่อนที่จะกลับมาเจรจากันใหม่ ในขณะที่เวียดนามในฐานะเจ้าภาพก็ไม่ถือว่าล้มเหลว ในทางตรงกันข้ามเวียดนามได้ประโยชน์จากงานนี้ด้วย โดยผู้นำของทั้ง 2 ประเทศได้ลงนามในความร่วมมือ 4 ข้อ เมื่อวันที่ 27 ก.พ.2562 ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 21,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ และมีความเป็นไปได้ว่าเกาหลีเหนืออาจจะยึดถือเวียดนามเป็นแบบอย่างในการพัฒนาการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจในอนาคต

ด้านคริสโตเฟอร์ กรีน ที่ปรึกษาอาวุโสจาก International Crisis Group กล่าวว่า แม้ผลการประชุมจะไม่เป็นไปอย่างที่คาดหวัง แต่ไม่ถือว่าเป็นหายนะ กระบวนการเจรจาไม่ได้ล้มเลิก ในอนาคตจะเกิดขึ้นอีก อาจจะเป็นการเจรจาระดับเจ้าหน้าที่ ซึ่งคงต้องรอเวลาอีกระยะหนึ่ง

ในขณะที่แถลงการณ์จากทำเนียบประธานาธิบดีของเกาหลีใต้ ระบุว่า ประธานาธิบดีมูน แจ อิน ได้พูดคุยกับผู้นำสหรัฐฯ โดยผู้นำสหรัฐฯ แสดงความเสียใจที่ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกับเกาหลีเหนือได้ แต่ยืนยันว่าจะเจรจากับเกาหลีเหนือต่อไป ขณะที่ประธานาธิบดีของเกาหลีใต้เสนอว่าจะหารือกับผู้นำสหรัฐฯ ในเรื่องนี้ ซึ่งผู้นำสหรัฐฯได้ตอบตกลงมาแล้ว

สื่อเกาหลีเหนือรายงานข่าวการประชุมเชิงบวก

สถานีโทรทัศน์ทางการเกาหลีเหนือ รายงานว่า คิม จองอึน ผู้นำสูงสุดเกาหลีเหนือและประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐอเมริกา ยังคงเดินหน้าการหารือ เพื่อแก้ปัญหาเกี่ยวกับการปลดอาวุธนิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลีและพัฒนาความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศ ให้ก้าวหน้ามากขึ้น

รี ยอง โฮ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเกาหลีเหนือ เปิดเผยว่า เกาหลีเหนือได้เรียกร้องให้ยกเลิกการบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรเพียงบางส่วนเท่านั้น เพื่อแลกเปลี่ยนกับการปิดโรงงานผลิตนิวเคลียร์ยองบยอน ซึ่งการแถลงข่าวของเกาหลีเหนือเมื่อคืนที่ผ่านมา เกิดขึ้นหลังจากผู้นำสหรัฐฯ แถลงข่าวประกาศว่า การประชุมสุดยอดครั้งที่ 2 ปิดฉากลงแบบไม่มีข้อตกลง เนื่องจากผู้นำเกาหลีเหนือเรียกร้องให้สหรัฐฯ ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจทั้งหมด

ขณะที่แซราห์ แซนเดอร์ส โฆษกทำเนียบขาว เปิดเผยว่า ผู้นำสหรัฐฯ ได้ต่อสายตรงถึงนายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะ ผู้นำญี่ปุ่น และประธานาธิบดีมูน แจ-อิน ผู้นำเกาหลีใต้ หลังจากการประชุมที่กรุงฮานอยปิดฉากลง

 

ด้านนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นสนับสนุนการตัดสินใจของผู้นำสหรัฐฯ อย่างเต็มที่ พร้อมทั้งยืนยันว่าญี่ปุ่นจะไม่ยกระดับความสัมพันธ์หรือช่วยเหลือเกาหลีเหนือ จนกว่าเกาหลีเหนือจะส่งตัวประกันกลับมายังญี่ปุ่นอย่างปลอดภัย

ส่วนแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ชื่นชมผู้นำสหรัฐฯ ที่ยังไม่ทำข้อตกลงกับผู้นำเกาหลีเหนือ เนื่องจากสิ่งที่สหรัฐฯ ต้องการคือการปลดอาวุธนิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลีอย่างสมบูรณ์ นอกจากนี้ยังได้ตั้งคำถามถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำสหรัฐฯ กับผู้นำเกาหลีเหนือ รวมทั้งถึงความสัมพันธ์ที่มีต่อประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย เนื่องจากเพโลซี มองว่าพฤติกรรมของผู้นำทั้ง 2 คนเป็นอันธพาลและไม่น่าไว้วางใจ

ทั้งนี้ คำถามที่กลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมืองในสหรัฐฯ ดังกล่าว เกิดขึ้นหลังจากผู้นำสหรัฐฯ ออกโรงปกป้องผู้นำเกาหลีเหนือว่าไม่รู้เห็นเกี่ยวกับอาการป่วยของออตโต วอร์มเบียร์ นักศึกษาอเมริกัน ที่เสียชีวิตเมื่อปี 2560 หลังถูกปล่อยตัวออกจากเรือนจำเกาหลีเหนือได้ไม่นาน

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปิดฉากเจรจา "ทรัมป์-คิม" ล่มกะทันหัน-ไม่ลงนามข้อตกลงร่วม

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง