ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"กระเบนนก"ถูกชำแหละตายฟรี กฎหมายไทยยังไม่คุ้มครอง

สิ่งแวดล้อม
4 มี.ค. 62
11:10
48,052
Logo Thai PBS
"กระเบนนก"ถูกชำแหละตายฟรี กฎหมายไทยยังไม่คุ้มครอง
อธิบดี ทช.ยอมรับไม่สามารถเอาผิดรายการอาหารดัง ชำแหละ "กระเบนนก" สัตว์ทะเลหายากในบัญชีแดง ใกล้สูญพันธุ์ของโลกที่ IUCN ประกาศสถานะ ชี้ไม่เหมาะสม ห่วงคนเลียนแบบบริโภคสัตว์แปลก ด้านดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ กังขารายการเอามาจากไหน

วันนี้ (4 มี.ค.2562) ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ ได้รับร้องเรียนจากประชาชน กรณีที่มีรายการโทรทัศน์รายการหนึ่ง นำกระเบนนก มาให้ผู้ร่วมรายการชำแหละ เพื่อทำอาหาร ซึ่งกระเบนนก เป็นสัตว์หายากและใกล้สูญพันธุ์ของโลก

ไทยพีบีเอสออนไลน์ สอบถามไปยังนายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ยอมรับว่า การนำกระเบนนกมาทำอาหาร ไม่สามารถเอาผิดในแง่กฎหมายได้ เพราะแม้ว่ากระเบนนก จะเป็นสัตว์ทะเลหายากใกล้สูญพันธุ์ของโลก แต่ในไทยยังไม่ได้รับการประกาศเป็นสัตว์คุ้มครองในไทย

ยอมรับว่ากระทบความรู้สึกของคนที่ดู และอาจเสียภาพลักษณ์ประเทศไทย และยังห่วงว่าอาจจะเกิดการเลียนแบบไปล่ากระเบนหรือสัตว์ชนิดอื่นๆเพราะถูกนำเสนอว่าบริโภคแล้วอร่อย

อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวอีกว่า ฝากเตือน ถ้าเป็นไปได้จะต้องหลีกเลี่ยง และคำนึงถึงความเหมาะสมเป็นหลัก เรื่องนี้ ทช.ไม่สามารถเอาผิดได้ หากเป็นไปได้อยากให้ทางรายการออกมาชี้แจงว่าที่มาของกระเบนนกว่ามาจากที่ไหน เพราะท้องทะเลไทยกระเบนนก พบในพื้นคุ้มครอง และไม่พบเจอตัวได้ง่ายๆ

ขณะนี้มีสัตว์ทะเลหลายชนิดที่เคยนิยมบริโภค และมีการรณรงค์ยกเลิกค่านิยมผิดๆ เช่นการกินหูฉลาม  ซึ่งแม้จะยังไม่หมด แต่อยากขอความร่วมมือประชาชน รวมทั้งผู้ทำรายการประเภทอาหาร ไม่ควรนำสัตว์ป่าหรือสัตว์หายากมาทำแบบนี้ เพราะสัตว์จะถูกรุกรานมากขึ้น จนเสี่ยงต่อการสูญพันธ์ุ

กังขา ห้ามนำเข้าแต่เอามาจากไหน 

ด้านนายธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า กระเบนนก เป็นชื่อเรียกของกระเบนในกลุ่มนี้ ชนิดที่ปรากฎในภาพ บางคนบอกว่าเป็น A. ocellatus พบในน่านน้ำไทยและรอบด้าน บางคนบอกว่าเป็น A.narinari พบเฉพาะในแอตแลนติก แต่ชนิดหลังนี้ กรมประมงห้ามนำเข้า ซึ่งส่วนตัวไม่คิดว่าเป็นประเด็นสำคัญ เพราะไม่ว่าชนิดไหน ถูกจัดอยู่ในบัญชีแดง (Red List) ที่องค์กรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ไอยูซีเอ็น) ขึ้นสถานะ VU คือมีความเสี่ยงมากที่จะสูญพันธุ์ และทั้ง 2 ชนิดจัดอยู่ในสัตว์ที่มีปริมาณลดน้อยลง

นักดำน้ำไม่ค่อยเจอตัวได้ง่ายๆ ดังนั้นไม่ว่าจะเอามาจากที่ไหน เพื่อทำอาหารโชว์ในรายการถือว่าไม่เหมาะสมอยู่แล้ว ในสายตาของประชาคมโลก ที่ต้องการอนุรักษ์สัตว์สายพันธุ์นี้ให้อยู่รอด ถ้ามันโดนจับแล้วปริมาณลดลงหรือไม่  ซึ่งน่าเสียดายว่ากฏหมายไทย ยังไม่มีการคุ้มครองกระเบนนก แต่จะเหมาะสมหรือไม่ที่จะนำสัตว์ที่มีสถานะการอนุรักษ์ใน Red List มาออกรายการทำอาหาร 

การที่ไม่มีกฎหมายคุ้มครองกระเบนนก คงไม่ต้องถามว่าเพราะอะไร แต่อยากตั้งคำถามว่าหรือจะรอให้สูญพันธ์ุแล้ว ค่อยมาออกกฎหมาย เหมือนกับปลาฉนากของไทย เพิ่งมีกฎหมายคุ้มครอง แต่กลับไม่เจอสักตัว

นอกจากนี้ยังฝากว่า ถ้าจะใช้สัตว์แปลกๆ จากสัตว์ป่า และสัตว์ทะเล เพื่อเพิ่มความตื่นเต้นให้เช็กสถานะในโลกของสัตว์เหล่านี้ เพราะคงหาไม่ยาก ทั้งนี้ต่อให้ไทยไม่มีกฎหมายคุ้มครอง แต่เป็นภาพลักษณ์ที่ไม่ดี ทั้ง 2 ชนิดอยู่บัญชีแดงไอยูซีเอ็น เท่ากับเต่ามะเฟือง และแมนต้าเรย์

 

 

ขณะเดียวกันในโลกโซเชียล ได้หยิบกรณีของกระเบนนก มาพูดคุยในวงกว้าง เพจเฟซบุ๊ก siamensis.org สมาชิกในห้องเข้ามาแสดงความเห็น เช่น อาชวิน เวทศิลป์ ปลากระเบนก็ไม่ต่างอะไรจากปลาฉลามหรอกครับที่มีการให้ลูกในจำนวนที่มีจำนวนน้อยมาก ครับต่างจากปลากระกระดูกแข็งส่วนใหญ่ ที่ออกไข่ที่ละเยอะๆ ครับแต่ในปลาที่ออกไข่เยอะบางสายพันธุ์ ก็มีจำนวนลดลงไปถึงจะไข่เยอะมาก แต่รอดชีวิตน้อยครับ ยิ่งในกลุ่มฉลามกับกระเบนแล้วบางสายพันธุ์ออกลูกและไข่ปีละแค่ 10 ตัวหรือไข่ปีละ1 ถึง 3ฟองเท่านั้น แต่เราเองจับมาเอาครีบมาทำอาหารปีละหลายแสนหลายล้านตัว ดังนั้นปลาฉลามกับกระเบนเอง จึงลดลงมากและฟื้นตัวไม่ได้ง่ายๆครับ

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง