“การุณยฆาต” สิทธิในการเสียชีวิตอย่างสงบดี ของผู้ป่วยกลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง หลังชายไทยที่ป่วยเนื้องอกในสมองมานานกว่า 10 ปี ได้ ตัดสินใจเดินทางไปกระทำการุณยฆาต ด้วยตัวเองที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งการทำการุณยฆาตยังคงเป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจ และถกเถียงในหลายแง่มุม
การุณยฆาต คืออะไร
การุณยฆาต (Euthanasia) มีที่มาจากภาษากรีก จากคำว่า Eu หมายถึง Good และ Thanatos หมายถึง Death แปลโดยรวมว่า การทำให้เสียชีวิตอย่างสงบโดยมีมนุษยธรรม ซึ่ง การุณยฆาต (Euthanasia) หรือ Mercy Killing คือ การยุติชีวิตของผู้ป่วยระยะสุดท้ายตามเจตนารมณ์ของผู้ป่วยหรือตามคำร้องขอของผู้แทนโดยชอบธรรม โดยมีโดยมีแพทย์เป็นผู้ดำเนินการยุติความเจ็บป่วย หรือเป็นผู้ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตด้วยดี แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ
การุณยฆาตเชิงรับ (Passive Euthanasia) คือ การยุติการรักษาให้ผู้ป่วยเสียชีวิต ในกรณีที่ผู้ป่วยระยะสุดท้าย หรือการรักษาได้ดำเนินมาถึงขีดสุด และแพทย์หรือผู้ได้รับอนุญาต จึงเลือกวิธีนี้เพื่อปล่อยให้ผู้ป่วยเสียชีวิต และหลุดพ้นจากความเจ็บปวดของการรักษา เป็นวิธีที่ได้รับการยอมรับมากที่สุด และถูกกฎหมายในหลายประเทศ
การุณยฆาตเชิงสงบ (Non-aggressive Euthanasia) คือการุณยฆาตโดยการยุติการให้ปัจจัยดำรงชีวิตแก่ผู้ป่วย เป็นวิธีเร่งให้ผู้ป่วยเสียชีวิต
การุณยฆาตเชิงรุก (Active Euthanasia) คือ การุณยฆาตโดยการให้สารหรือวัตถุเร่งให้ผู้ป่วยเสียชีวิต
กฎหมายแบ่ง 2 ประเภท
ในทางกฎหมายสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่
- การยินยอมให้แพทย์หรือผู้อื่นที่ได้รับอนุญาตกระทำการฉีดสารหรือใช้วัตถุยุติชีวิตตามเจตจำนงผู้ป่วย
- การยุติชีวิตด้วยตัวผู้ป่วยเอง ไม่ว่าจะเป็นการให้ยา การฉีดหรือกดปุ่ม โดยมีแพทย์เตรียมอุปกรณ์เเละเครื่องมือให้ เรียกวิธีนี้ว่า Physician Assisted Suicide (PAS) ซึ่งเป็นวิธีที่สอดคล้องกับศีลธรรมและกฎหมายที่ทำให้ผู้ป่วยได้จบชีวิตด้วยตัวเองอย่างสงบ
ปัจจุบันทั่วโลกมีเพียง 12 ประเทศที่มีกฎหมายรองรับการทำการุณยฆาต ทั้งการทำด้วยตัวผู้ป่วยเองและการให้แพทย์ช่วยเหลือ ได้แก่ เนเธอร์แลนด์, เบลเยียม, ลักเซมเบิร์ก, สวิตเซอร์แลนด์, ออสเตรเลีย, แคนาดา, โคลัมเบีย, สหรัฐอเมริกา, เยอรมนี, ญี่ปุ่น และอินเดีย ในบรรดา 12 ประเทศนี้มีเพียงสวิตเซอร์แลนด์ที่อนุญาตให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาขอรับการทำการุณยฆาต คือ Dignitas Suicide Clinic โดยผู้ป่วยสามารถเลือกได้ว่าจะจบชีวิตตัวเองได้ตามใจปรารถนา
เรื่อง : ภาพ ทิพากร ไชยประสิทธิ์