กรณีที่มีข่าวว่า กกต.ได้เดินทางไปดูการใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ 28 ก.พ. - 10 มี.ค.นี้ โดยใช้งบประมาณ 12 ล้านบาท และไม่มีการประชุมเป็นเวลา 1 สัปดาห์นั้น
วันนี้ (6 มี.ค.2562) สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้ออกเอกสารชี้แจงว่า ในการดำเนินการจัดการออกเสียงลงคะแนนนอกราชอาณาจักร กกต.ได้มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ เป็นหน่วยงานสนับสนุนการบริหารจัดการ พร้อมทั้งได้โอนงบประมาณที่ต้องใช้ในการดำเนินการทั้งหมดให้ และกำหนดให้เอกอัครราชทูตเป็นผู้มีอำนาจในการดำเนินการจัดให้มีการออกเสียงลงคะแนนในช่วงระหว่างวันที่ 4-16 มี.ค โดยกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ได้มีหนังสือเชิญ กกต.ไปตรวจติดตามภารกิจดังกล่าวในประเทศที่มีชุมชนคนไทยอยู่หนาแน่นและมีผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิมาก
กกต.เห็นว่าการไปปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวเป็นอำนาจของ กกต.ในการควบคุม ดูแลการดำเนินการของกระบวนการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรทั้งหมด เพื่อให้ความมั่นใจว่าการดำเนินการจัดการเลือกตั้งในต่างประเทศจะเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม โดยหาก กกต. พบเห็นการกระทำใดอันอาจเป็นเหตุให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม หรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย สามารถใช้อำนาจสั่งระงับ ยับยั้ง แก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกการเลือกตั้ง หรือสั่งให้ดำเนินการเลือกตั้งใหม่ อีกทั้งจะได้นำผลการตรวจติดตามภารกิจมาใช้เป็นประโยชน์ในการปรับปรุงปัญหา อุปสรรค ของการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรในอนาคต
ทั้งนี้ ตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 ในระหว่างเวลานับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งใช้บังคับจนถึงวันประกาศผลการเลือกตั้ง หากมีความจำเป็นเร่งด่วนต้องมีการประชุม กกต. ให้มีอำนาจประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดย กกต.แต่ละคนอาจอยู่ในสถานที่แตกต่างกันได้ ซึ่งในห้วงการเดินทางที่ผ่านมายังไม่มีประเด็นเร่งด่วนที่ กกต.จะต้องมีการประชุมเพื่อพิจารณาวินิจฉัยแต่อย่างใด
พร้อมฝากประชาสัมพันธ์ถึงผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่จะไปออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งในต่างประเทศว่า กฎหมายได้กำหนดห้ามไม่ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งถ่ายภาพบัตรเลือกตั้งที่ตนได้ลงคะแนนแล้ว ซึ่งการกระทำดังกล่าวต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
กกต.ทยอยเดินทางดูการเลือกตั้งล่วงหน้านอกราชอาณาจักร