ไทยพีบีเอสออนไลน์คุยกับ น.ส.นัชญ์ ประสพสินธุ์ ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าและเจ้าของเพจทูนหัวของบ่าว เธอได้แชร์ประสบการณ์การรักษากับจิตแพทย์ว่าไม่ได้เป็นเรื่องที่น่ากลัว แต่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ป่วยกลุ่มนี้
Q : เปิดให้คำปรึกษาเรื่องโรคซึมเศร้า?
A : นัชญ์จะแชร์วิธีรักษาโรคซึมเศร้าผ่านทวิตเตอร์อยู่บ่อย ๆ เมื่อเราแชร์มากขึ้นก็มีคนส่งข้อความส่วนตัวมาถามมากขึ้น ระยะหนึ่งปีกว่า ๆ นี้ คนที่เข้ามาส้งข้อความขอคำปรึกษาส่วนมากจะเป็นนักเรียนและนักศึกษาที่เครียดจากปัญหาวัยรุ่น มีทั้งเรื่องเรียน ความรัก พ่อแม่ไม่เข้าใจ เพื่อนในคณะไม่คบ จนถึงไม่มีสมาธิในการเรียน
นัชญ์จะใช้วิธีฟังปัญหาต่าง ๆ ของพวกเขา โดยนำคำพูดของนักจิตบำบัดที่นัชญ์รักษามาใช้ เช่น รู้สึกอย่างไรกับเรื่องนี้? มีอะไรอยากจะระบายไหม? เขาก็จะพิมพ์เรื่องราวที่ไม่สบายใจมาให้อ่าน เมื่อพิมพ์เสร็จเขาก็จะบอกว่าสบายใจขึ้น แล้วช่วงที่เขาอารมณ์ดาวน์มาก ๆ (อารมณ์ที่รู้สึกแย่ จิตตก) ก็จะส่งข้อความมาว่า "พี่หนูไม่ไหวเลย" นัชญ์ก็จะเป็นพวกเดียวกับเขา แล้วบอกว่าพี่เข้าใจ พี่เคยเจอภาวะนี้มาแล้วทุกอย่าง
Q : อะไรคือปัญหา – อุปสรรค การรักษาโรคซึมเศร้า?
A : คำแนะนำที่ให้ผ่านทางทวิตเตอร์นอกจากรับฟังเรื่องราวของเด็ก ๆ แล้ว นัชญ์จะแนะนำให้ทุกคนไปพบจิตแพทย์ ซึ่งหลายคนอยากไป หลายคนไปแล้ว แต่พบปัญหาตรงที่คิวเข้าพบหมอในโรงพยาบาลของรัฐนานมาก เด็ก ๆ มักจะบอกว่ายังไม่ถึงคิวนัดเลย ต้องรออีก 3 เดือน 6 เดือน ซึ่งบางทีมันไม่ทันหากเด็กมีอาการดาวน์ นัชญ์ก็แนะให้โทรหาสายด่วน ก็พบว่าเด็ก ๆ เข้าไม่ถึงและไม่รู้จัก
นัชญ์เป็นคนหนึ่งที่เลือกรักษากับโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งคิวนัดอยู่ที่ประมาณ 1 เดือน และเมื่อเกิดเวลาดาวน์ นัชญ์จะไลน์หาหมอให้ช่วยเหลือได้ทันที แต่การเข้าโรงพยาบาลเอกชนไม่ได้สามารถเข้าถึงได้ทุกคน เด็ก ๆ ในวัยเรียนไม่มีเงินรักษาตัวเอง หลายคนพยายามบอกครอบครัว เพื่อให้ตัวเองได้รับการรักษา แต่ครอบครัวไม่เชื่อ เด็กบางคนต้องโกหกเพื่อให้ได้เงินมารักษา ปัญหาเรื่องเงิน มันเป็นฉนวนที่ทำให้ทุกคนท้อ ไม่รักษาต่อเนื่อง
ครอบครัวไม่เข้าใจก็เป็นปัญหาที่เจอบ่อย พ่อแม่ไม่เข้าใจ เด็กบางคนกลัวไม่กล้าบอกพ่อแม่เมื่อเกิดความรู้สึกอยากฆ่าตัวตาย จึงไปหาเพื่อน ซึ่งเพื่อนก็ไม่รู้วิธีช่วยเหลือ
ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจะรู้สึกระแวง ไม่ปลอดภัย การจะไปหาจิตแพทย์ต้องใช้เวลา เพราะจะกังวลว่าหมอจะเข้าใจเราไหม เป็นพวกเราไหม
Q : ทำไมเลือกรักษาโรคซึมเศร้าที่โรงพยาบาลเอกชน?
A : นัชญ์รักษาโรคซึมเศร้าตั้งแต่เริ่มเป็น แรก ๆ รักษากับโรงพยาบาลรัฐบาล ซึ่งไปมาแล้วหลายแห่ง แต่เมื่อไปแล้วรู้สึกไม่ดี เพราะคนไข้เยอะ มันยิ่งทำให้เรารู้สึกหดหู่ เพราะเจอคนที่มีอาการเหมือนเราเต็มไปหมด
ที่โรงพยาบาลเอกชน ยอมรับว่าค่าใช้จ่ายสูงมาก การทำจิตบำบัดอยู่ที่ชั่วโมงละเกือบ 2,000 บาท แต่ไปแล้วรู้สึกดี แผนกจิตเวชของเขามีลักษณะเหมือนแผนกอายุรกรรม ไม่มีการแบ่งแยก ไม่มีใครรู้ว่าเรามาหาจิตแพทย์
Q : อาการซึมเศร้าเป็นอย่างไร?
A : เวลาคนปกติรู้สึกเศร้าจะอยู่ที่ระดับ 1 ถึง 10 แต่ผู้ป่วยซึมเศร้าเราจะเริ่มจากระดับ 100 ไปเลย เวลาดาวน์มาก ๆ มันจะรู้สึกเหมือนนั่งเครื่องบินแล้วดิ่งลงมหาสมุทรลึก ๆ แล้วมันเอาตัวเองขึ้นมาไม่ได้ ตัวนัชญ์เวลารู้สึกดาวน์ เราเหมือนกับผงฝุ่นที่เล็กมากในโลกใบนี้ รู้สึกว่าเราไม่มีค่า ไม่มีประโยชน์อะไรกับโลกนี้ ไม่เคยมีค่า มีความหมายกับใคร อยากหลุดพ้น ถ้าเครียดมาก หน้าจะบิดเบี้ยว มือจีบ และเวลารู้สึกอยากฆ่าตัวตาย มันไม่ใช่แค่คิดสั้น แต่มันคิดมาดีแล้ว มันแค่คิดว่ามันจะหลุดพ้นจากความเจ็บปวดทั้งหมดทั้งมวล เราจะสบาย
Q : การนำเสนอข่าวของสื่อมีผลกระทบอย่างไรกับโรคซึมเศร้า?
A : ไม่เห็นด้วยกับหลายสำนักข่าวที่บอกวิธีการการฆ่าตัวตายอย่างละเอียด เด็ก ๆ จะเอาไปเลียนแบบได้ การรายงานระดับกรณีมีคนกระโดดตึก ก็ไม่ควรนำเสนอ เพราะระดับชั้นนั้นจะเป็นการยืนยันความสำเร็จให้กับคนที่กำลังจะคิดสั้นด้วยวิธีการกระโดดตึก
ส่วนจดหมายลาตาย ทำให้รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ต้องเขียนหากเลือกใช้วิธีนี้ เพราะจะได้ชัดเจนว่าเหตุกา รณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่การพลัดตก และไม่ทำให้คนอื่นมาเดือดร้อน
เช่นเดียวกับการบอกชื่อสะพาน บอกจำนวนเม็ดยา จำนวนขวดของยาที่ใช้ในการฆ่าตัวตาย รายละเอียดเหล่านี้จากประสบการณ์ส่วนตัวของนัชญ์ อ่านข่าวจบ นัชญ์จะรู้เลยว่า อ๋อ ชั้นนี้ สะพานนี้ ยาจำนวนเท่านี้ถึงจะทำการสำเร็จ