กรณีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นห่วงสุขภาพจิตคนไทยอาจเครียดจากการเสพข่าวการเมืองมากเกินไป วันนี้ (28 มี.ค.2562) ไทยพีบีเอสออนไลน์สัมภาษณ์ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิตกระทรวงสาธารณสุข มีคำแนะนำเพื่อลดความเครียดในช่วงหลังการเลือกตั้ง
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า คนไทยมีความสนใจเรื่องของการเมืองมาก ทำให้อาจเผชิญความเครียดเฉพาะทางการเมือง เนื่องจากเห็นความต่างทางการเมืองทั้งก่อน และหลังการเลือกตั้ง ซึ่งมีการการคาดการณ์ทางการเมือง จากกระแสว่าจะจัดตั้งรัฐบาล และตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งไม่ใช่ครั้งแรกแต่ในอดีตคนไทยเคยเกิดความเครียดทางการเมืองมาตั้งแต่ที่เรียกตัวเองว่าเป็นกลุ่มคนเสื้อเหลือง เสื้อแดง และความเห็นต่างที่เปราะบาง ก็สามารถพัฒนาไปสู่ความขัดแย้งได้
น่าห่วงว่าระหว่างที่ยังรอผลตรวจสอบเลือกตั้ง 9 พ.ค.นี้ ช่วงเว้นวรรคแบบนี้จะเกิดข้อเสนอ ข้อคิดเห็น พยากรณ์หลายรูปแบบ อาจจะตรง หรือไม่ตรงใจ ไม่ถูกใจ หากคอการเมืองที่เชียร์แพ้ หรือชนะ แล้วคิดเห็นไม่ตรงกัน อารมณ์การเมืองจะรุนแรงขึ้น และเกิดความเครียดทางการเมืองขึ้นได้
แนะลดการเสพข่าวการเมืองไม่เกิน 2 ชม.ต่อวัน
อธิบดีกรมสุขภาพจิต ระบุว่า ถ้าเครียดมากจะส่งผลต่อระบบสุขภาพ ร่างกายและจิตใจ จะวิตกกังวล หงุดหงิด และคิดมาก และปวดต้นคอ ปวดหลัง ไม่กินข้าว นอนไม่หลับ ดังนั้นมีคำแนะนำต้องติดตาม การเมืองแบบมีวุติภาวะ ไม่จำเป็นต้องติดตามข่าวสารการเมืองแบบใกล้ชิดมาก
การเป็นนักประชาธิปไตยเป็นเรื่องดีแต่ไม่ควรเสพข่าวการเมืองเกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน อาจจะติดตามแค่ช่วงเช้า และเย็น ไม่ใช่ทุกเบรกทุกช่องทาง เพราะบางทีอาจจะทำให้เราได้รับข้อมูลมากเกินไป
นอกจากนี้ควรรับฟังและเปิดใจรับฟังเสียงของคนอื่น หันไปทำทำกิจวัตรประจำวันเป็นปกติ หรือดูข่าวสาร เช่นข่าวบันเทิง เศรษฐกิจ และกลับไปทำหน้าที่ของตัวเอง นอกจากนี้ควรพักผ่อนให้เพียงพอ เพราะการนอนจะลดความเครียด ออกกำลังกาย ทำสมาธิ ออกไปท่องเที่ยว รับประทานอาหารนอกบ้าน
ตอนนี้กรมสุขภาพจิต พัฒนาแบบประเมินอารมณ์ทางการเมือง 5 ข้อด้วยกัน เพื่อให้ประชาชนและลองประเมินตัวเองดูว่าเครียดการเมืองมากแค่ไหน โดยแบ่งเป็น 3 ระดับ ซึ่งหากพบว่าถ้าระดับปานกลาง จะต้องหยุดรับข่าวสาร 1-2 วัน และถ้ามากจะมีผลต่อร่างกายและจิตใจแนะนำต้องพบผู้เชียวชาญ
ระยะเวลาสั้นถ้าเครียดทางการเมืองยังสามารถจัดการได้ แต่ถ้าปล่อยให้เครียดยาวนานจะเกิดอารมณ์เศร้า มีความพ่ายแพ้ ถดถอย คิดว่าตัวเองไม่เก่งและจัดการความคิดไม่ได้ จะทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าและนำไปสู่การฆ่าตัวตาย ซึ่งกรมสุขภาพจิตค่อนข้างกังวล
แบบทดสอบความเครียดมากแค่ไหน
สำหรับแบบทดสอบอารมรณ์การเมือง ของกรมสุขภาพจิต ประเมินว่าในช่วงที่ผ่านมาเรามีความรู้สึกต่อไปนี้อย่างไร
- ฉันมักอารมณ์เสียเวลาคุยเรื่องการเมือง (ใช่, ไม่แน่ใจ, ไม่ใช่)
- เวลาคนพูดเรื่องการเมืองที่ฉันไม่เห็นด้วย ฉันอดไม่ได้ต้องเถียงเสมอ (ใช่, ไม่แน่ใจ, ไม่ใช่)ฉันหมกมุ่นเรื่องการเมือง จนลืมเรื่องบ้านฉัน (ใช่, ไม่แน่ใจ, ไม่ใช่)ฉันกลัวว่าจะเกิดเรื่องร้ายแรงกับประเทศไทยตลอดเวลา (ใช่, ไม่แน่ใจ, ไม่ใช่)
- ฉันมักจะพยายามโน้มน้าวให้คนอื่นเห็นด้วยกับความคิดเห็นทางการเมืองของฉันเสมอ (ใช่, ไม่แน่ใจ, ไม่ใช่)
เมื่อประเมินแล้วก็ให้คะแนนและแปลผลดังนี้ ตอบว่า ใช่ = 2 คะแนน ไม่แน่ใจ = 1 คะแนน, ไม่ใช่ = 0 คะแนน เสร็จแล้วรวมคะแนนที่ได้ทั้งหมดแล้วอ่านผลประเมิน ดังนี้
- กลุ่มที่ 1 ได้คะแนน 0-2 คะแนน อารมณ์ทางการเมืองปกติ คือ เป็นผู้ที่เปิดรับความคิดเห็นจากทุกฝ่าย และตระหนักเพียงว่าเป็นความคิดเห็นทางการเมืองที่อาจไม่ตรงกันได้
- กลุ่มที่ 2 ได้คะแนน 3-5 คะแนน อารมณ์ทางการเมืองอยู่ในระดับปานกลาง มีจุดยืนและรับความคิดเห็นที่แตกต่างได้ แต่มีความเสี่ยงที่จะเครียดและเกิดความขัดแย้งกับผู้อื่นได้ถ้าหมกมุ่นมากเกินไป จึงควรหากิจกรรมอย่างอื่นทำ เช่น ไปท่องเที่ยว หรือออกกำลังกายบ้าง
- กลุ่มที่ 3 ได้คะแนน 6-10 คะแนน อารมณ์ทางการเมืองค่อนข้างรุนแรง มีความเสี่ยงต่อความเครียดและขัดแย้งกับผู้อื่นสูงจึงไม่ควรเปิดรับสื่อที่นำเสนอเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองทั้งวัน หากิจกรรมอย่างอื่นทำบ้าง และหลีกเลี่ยงการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในสถานการณ์หรือกับบุคคลที่มีความคิดรุนแรง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
นายกรัฐมนตรี ห่วงประชาชน "เครียด" ข่าวการเมือง