วันนี้ (5 มี.ค.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์ ฉบับเดือนเมษายน ตีพิมพ์บทความชื่อ “Prehospital Care of the 13 Hypothermic, Anesthetized Patients in the Thailand Cave Rescue” สรุปเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือสมาชิกทีมฟุตบอลหมูป่า อะคาเดมี 13 คน ออกจากถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย เมื่อปี 2561
บทความฉบับนี้กล่าวถึงการตัดสินใจใช้ยาสลบในกลุ่มเคตามีนให้แก่สมาชิกทีมฟุตบอลและใส่หน้ากากออกซิเจนเต็มหน้า ก่อนที่จะนำตัวทุกคนออกมาจากถ้ำ โดยคณะแพทย์ต้องให้เคตามินแก่ทีมหมูป่าเป็นระยะ
นอกจากนี้ยังเปิดเผยว่า สมาชิกทีมหมูป่าคนที่ 2 เกิดภาวะร่างกายสูญเสียความร้อนจนอุณหภูมิภายในร่างกายต่ำกว่า 35 องศาเซลเซียส ทำให้วิสัญญีแพทย์ต้องตรวจอุณหภูมิของสมาชิกทุกคนที่ออกมาจากถ้ำ
บทความฉบับนี้เขียนโดยคณะแพทย์ชาวไทยและชาวออสเตรเลีย ได้แก่ พ.ต.นพ.ชาญฤทธิ์ ล้อทวีสวัสดิ์ นพ.ริชาร์ด แฮร์ริส ชาวออสเตรเลีย พล.ต.วุฒิชัย อิศระ และ ผศ.นพ.กฤษณ์ พงศ์พิรุฬห์
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ข้อมูลจากวิกิพีเดีย ระบุว่า ยาในกลุ่ม "เคตามีน" (Ketamine) หรือชื่อทางการค้าคือ เคตาลาร์ (Ketalar) หรือภาษาปากคือ ยาเค เป็นยาในกลุ่มยาสลบ ผู้รับยานี้จะไม่สลบแต่จะมีอาการไร้ความรู้สึกและอยู่ในภวังค์ มีฤทธิระงับปวด, ระงับประสาท และทำให้สูญเสียความทรงจำ ยานี้สามารถใช้รักษาอาการปวดเรื้อรังและยังอาจถูกใช้เป็นยาระงับประสาทในผู้ป่วยหนัก ยานี้ยังช่วยให้ระบบหายใจและหัวใจทำงานอย่างคล่องตัวขึ้น สามารถรับยานี้ได้โดยรับประทาน, สูดดม, ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ หรือฉีดเข้าหลอดเลือดดำ หากฉีดเข้าหลอดเลือดจะออกฤทธิ์ใน 5 นาทีและจะคงฤทธิ์ไปราว 25 นาที
ผลข้างเคียงจากการใช้ยา ได้แก่ ปฏิกิริยาทางจิตเมื่อยาหมดฤทธิ์ ปฏิกิริยาเหล่านี้ได้แก่ ภาวะอยู่ไม่สุข, สับสน หรืออาการประสาทหลอนนอกจากนี้ยังส่งผลให้ความดันโลหิตเปลี่ยนแปลง (โดยมากจะความดันเพิ่มขึ้น) และกล้ามเนื้อสั่น และยังอาจก่อให้เกิดอาการหลอดลมหดตัวเฉียบพลัน ยานี้อาจก่อให้เกิดการเสพติด หากใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน อาจทำให้ผู้รับยาเป็นโรคจิตเภท
เคตามีนถูกค้นพบในปี ค.ศ.1962 ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นยาหลักขององค์การอนามัยโลก ปัจจุบันมีสถานะเป็นยาสามัญ[4] ยานี้สามารถใช้เป็นยาเสพติดเพื่อผ่อนคลาย ดังนั้นในประเทศไทยจึงจัดเป็นยาควบคุมพิเศษตามพระราชบัญญัติยา