ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ต้องเตรียมทำน้ำอภิเษก โดยทำพิธีพลีกรรมตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ทั่วราชอาณาจักร จำนวน 108 แห่ง ตามโบราณราชประเพณีและทำพิธีพร้อมกัน โดยวันพรุ่งนี้ (6 เม.ย.2562) ผู้ว่าราชการจังหวัดจะเป็นประธานในพิธีพลีกรรมตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์สำคัญ 76 จังหวัด ในเวลา 11.52 - 12.38 น.
หลังจากนั้นจะมีการตั้งพิธีทำน้ำอภิเษก ณ พระอารามสำคัญต่าง ๆ ทั่วประเทศ ในวันที่ 8 เม.ย. ก่อนจะทำพิธีเสกน้ำอภิเษกรวมจากกรุงเทพมหานคร และ 76 จังหวัด ณ วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานครต่อไป
สำหรับการเตรียมน้ำอภิเษก พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ประกอบด้วย
1.แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้สำหรับการเตรียมน้ำอภิเษกและน้ำสรงพระมุรธาภิเษก
ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562
- น้ำสรงพระมุรธาภิเษก ประกอบด้วย เบญจสุทธคงคาและน้ำจากสระ 4 สระ ในจังหวัดสุพรรณบุรี
- น้ำอภิเษก ประกอบด้วย น้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์จากกรุงเทพฯ และน้ำศักดิ์สิทธิ์จาก 76 จังหวัด
รวมแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้สำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จำนวน 108 แหล่ง
2.ขั้นตอนการเตรียมน้ำสำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ประกอบด้วย
- พลีกรรมตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ทุกจังหวัด ในวันที่ 6 เมษายน 2562
- ตั้งพิธีทำน้ำอภิเษก ณ พระอารามสำคัญต่าง ๆ ทั่วประเทศ ในวันที่ 8 เมษายน 2562
- ทำพิธีเสกน้ำอภิเษกรวมจากกรุงเทพมหานคร และ 76 จังหวัด ณ วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร ในวันที่ 18 เมษายน 2562
- แห่เชิญน้ำอภิเษกจากวัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร ไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในวันที่ 19 เมษายน 2562
คนโทบรรจุน้ำศักดิ์สิทธิ์ในพิธีพลีกรรม
ก่อนหน้านี้ นายชยาวุธ จันทร ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ได้ตรวจสอบความเรียบร้อยการผลิตคนโทน้ำศักดิ์สิทธิ์ ที่โรงโอ่งรัตนโกสินทร์ 4 ต.ท่าราบ อ.เมือง จ.ราชบุรี หลังจากที่กระทรวงมหาดไทยได้มอบหมายให้ จ.ราชบุรี ผลิตคนโทน้ำ เพื่อใช้บรรจุน้ำศักดิ์สิทธิ์ในการประกอบพิธีพลีกรรมตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ของแหล่งน้ำสำคัญต่างๆ จากทั่วประเทศ ในวันที่ 6 เม.ย. พร้อมกันทั้ง 77 จังหวัด
หลังจากที่ต้นแบบเสร็จ โดยผู้ที่ออกแบบคนโทน้ำ คือช่างสิบหมู่ที่จะเป็นผู้ควบคุมแบบ ควบคุมขนาด ควบคุมลวดลาย และรายละเอียดตลอดจนสีสันของคนโท ซึ่งทางกระทรวงมหาดไทยได้สั่งการให้ปั้นจำนวน 125 ใบ เพื่อติดตราอย่างเดียว ส่วน 77 จังหวัด ติดตราประจำของจังหวัดนั้นๆ ด้านหนึ่ง และตราสัญลักษณ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษกอีกด้านหนึ่ง
นายสุขชาติ โฆษะบดี เจ้าของโรงโอ่งรัตนโกสินทร์ 4 เปิดเผยถึงการผลิตคนโทน้ำศักดิ์สิทธิ์ ว่า การผลิตจะมีเบ้าพิมพ์ การขัดผิวให้เรียบ รวมถึงการเก็บรอยตะเข็บของชิ้นงาน เสร็จแล้วจะนำตั้งไว้ให้แห้ง 3-5 วัน จากนั้นนำเข้าเตาเผาในอุณหภูมิประมาณ 900 องศาเซลเซียส ก็จะได้คนโทน้ำที่มีสีและมีความงดงามพร้อมฝาปิดที่มีลวดลายตามที่กำหนดไว้ จึงนับเป็นเกียรติของครอบครัวและทีมงานช่าง งานนี้ถือว่าเป็นงานที่ยิ่งใหญ่และมีความสำคัญอย่างยิ่ง ใช้เวลาประมาณ 45 วัน
สำหรับการทำคนโทน้ำศักดิ์ในครั้งนี้ได้ช่างฝีมือที่มีความชำนาญกำลังบรรจงใช้พู่กันจุ่มน้ำทองเซรามิก ซึ่งมีทองผสมอยู่กว่า 10 เปอร์เซ็นต์ ค่อยบรรจงเขียนลวดลายด้วยความประณีต ช่วงบริเวณด้านล่างและช่วงคอของคนโทแต่ละใบอย่างพิถีพิถัน เพื่อเตรียมนำไปเผาอบในอุณหภูมิความร้อนสูงที่กำหนดไว้ หลังจากนั้นก็จะได้คนโทที่มีลักษณะลวดลายเงาวาวจากสีน้ำทองที่คงความงดงามประณีตที่ช่างทุกคนได้ตั้งใจสุดฝีมือ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
หมายกำหนดการ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก 2562
"พระปฐมบรมราชโองการ" พระราชปณิธานในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
ย้อนประวัติ "พระราชพิธีบรมราชาภิเษก"