ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

แพทย์เผยเหตุผลเลือกใช้ "เคตามีน" ช่วยทีมหมูป่า

ต่างประเทศ
5 เม.ย. 62
20:50
4,609
Logo Thai PBS
แพทย์เผยเหตุผลเลือกใช้ "เคตามีน" ช่วยทีมหมูป่า
หลังการเปิดเผยเกี่ยวกับการใช้ยาเคตามีนระหว่างเคลื่อนย้ายทีมหมูป่าออกจากถ้ำหลวงฯ ในวารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์ หนึ่งในทีมแพทย์ชี้เป็นวิธีที่เหมาะสมกับสถานการณ์ ช่วยทำให้เด็กหลับ แต่ไม่กดการหายใจและไม่ทำให้ความดันลดลง

วันนี้ (5 เม.ย.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บทความชิ้นนี้ถูกตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์ ของสมาคมการแพทย์รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา ใช้ชื่อว่า “Prehospital Care of the 13 Hypothermic, Anesthetized Patients in the Thailand Cave Rescue” ซึ่งมีความสำคัญ เนื่องจากช่วยไขข้อข้องใจเกี่ยวกับกระบวนการให้ความช่วยเหลือสมาชิกทีมหมูป่า อะคาเดมี ทั้ง 13 ชีวิต ออกมาจากถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย เมื่อเดือน ก.ค.2561 เอาไว้อย่างชัดเจน

บทความนี้เขียนขึ้นโดยทีมแพทย์ชาวไทย 3 คนและชาวออสเตรเลีย 1 คน คือ พ.ต.นพ.ชาญฤทธิ์ ล้อทวีสวัสดิ์ รองเลขาธิการแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์, พล.ต.วุฒิไชย อิศระ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช, นพ.กฤษณ์ พงศ์พิรุฬห์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ นพ.ริชาร์ด แฮร์ริส

 

รายละเอียดของบทความ พูดถึงการใช้ยาสลบในกลุ่มเคตามีนให้กับสมาชิกทีมหมูป่าและการใส่หน้ากากออกซิเจนแบบเต็มหน้า ซึ่งให้ออกซิเจนได้ 80 เปอร์เซ็นต์ ก่อนที่ทีมกู้ภัยจะทยอยนำทั้ง 13 ชีวิตออกมาจากถ้ำ โดยหมูป่าคนที่ 2 เกิดภาวะตัวเย็นเกิน หรือภาวะไฮโปเทอร์เมีย เนื่องจากอุณหภูมิของร่างกายลดต่ำ 34.8 องศาเซลเซียส ระหว่างการเคลื่อนย้ายจากโรงพยาบาลสนามไปยังโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์

สรุปการช่วยเหลือทีมหมูป่าในวันแรกพบปัญหาเกี่ยวกับภาวะไฮโปเทอร์เมียและการประสานงานกันไม่เพียงพอ จึงมอบหมายให้วิสัญญีแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องตรวจร่างกายของทีมหมูป่าทุกคน

สิ่งที่กล่าวถึงในบทความนี้คือ "เคตามีน" ซึ่งเกิดจากการสังเคราะห์ขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2505 และนำมาใช้เป็นยาแก้ปวดและยากล่อมประสาทให้กับทหารอเมริกันที่รบในสงครามเวียดนาม

เคตามีนจะมีส่วนช่วยกดไม่ให้รู้สึกตื่นเต้น แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่กดการหายใจ นอกจากนี้ยังเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับกลุ่มผู้มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะไฮโปเทอร์เมียอีกด้วย เคตามีนได้รับการขึ้นทะเบียนในบัญชียาหลักขององค์การอนามัยโลกสำหรับผู้ใหญ่ ในรูปแบบของยาน้ำสำหรับฉีดเข้าเส้นเลือด ซึ่งจะใช้เวลาในการออกฤทธิ์ประมาณ 5-10 นาที

ขณะที่ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อวัตถุออกฤทธิ์ ประเภทที่ 2 เมื่อวันที่ 24 ส.ค.2561 ซึ่งมีเคตามีนอยู่ในบัญชีแนบท้ายประกาศด้วย

 

พ.ต.นพ.ชาญฤทธิ์ ล้อทวีสวัสดิ์ รองเลขาธิการแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการช่วยทีมหมูป่าและร่วมเขียนบทความในวารสารนิว อิงแลนด์ พูดถึงการตัดสินใจใช้ยาเคตามีน แม้ว่าจะมีความเสี่ยงสูง โดยระบุว่า นพ.ริชาร์ด แฮร์ริส เป็นผู้กำหนดว่าจะใช้ยาในการทำให้เด็กหลับ เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายระหว่างการนำตัวออกจากถ้ำ ข้อดีของยาเคตามีนจะไม่ไปกดการหายใจและไม่ทำให้ความดันลดลง เพราะประเด็นเรื่องความดันและการเต้นของหัวใจในเด็กเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ซึ่งเคตามีนจะทำให้การหายใจยังคงอยู่ได้

ย้อนกลับไปถึงการให้สัมภาษณ์ของ นพ.ริชาร์ด แฮร์ริส ที่เปิดเผยกับ National Geographic เกี่ยวกับภารกิจการนำทั้ง 13 ชีวิต ออกมาจากถ้ำ ที่โอกาสในการรอดชีวิตแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย แต่สุดท้ายบทความที่ตีพิมพ์ในวารสารนิวอิงแลนด์ ก็เป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าทีมกู้ภัยทุกคนร่วมมือร่วมใจกันเป็นอย่างดี จนทำให้ภารกิจนี้กลายเป็น Mission Possible ได้ในที่สุด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง