วันนี้ (9 เม.ย.2562) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ในช่วงนี้มีรายงานข่าวเกี่ยวกับคนถูกสุนัขกัดอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะในกลุ่มเด็ก ยิ่งช่วงนี้เด็กๆ ปิดเทอม ก็มีโอกาสสูงที่เด็กจะไปเล่นกับสุนัขหรือแมวที่ไม่รู้จัก ประกอบกับสภาพอากาศร้อนอบอ้าว อาจทำให้สัตว์หงุดหงิดได้ง่าย จึงขอให้ประชาชนระมัดระวังตนเอง และบุตรหลานของท่านอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้ถูกสัตว์กัดหรือข่วน โดยโรคพิษสุนัขบ้าหรือโรคกลัวน้ำ เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน ซึ่งเชื้อเข้าทางบาดแผล ผ่านทางกัด ข่วน เลีย หรือสัมผัสกับน้ำลายของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมทุกชนิดที่ติดเชื้อ เช่น สุนัข แมว หนู ลิง ค้างคาว สัตว์ที่พบเป็นโรคพิษสุนัขบ้าบ่อยที่สุด คือสุนัข รองลงมาคือแมวและโค โรคนี้สามารถพบได้ตลอดทั้งปี ระยะตั้งแต่รับเชื้อถึงแสดงอาการอาจยาวนานตั้งแต่ 1 สัปดาห์ จนถึง 1 ปี อาการในคน เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ คันรุนแรงบริเวณบาดแผล คลุ้มคลั่ง กลัวแสง กลัวลม กลืนอาหารไม่ได้โดยเฉพาะของเหลว และหายใจลำบาก เนื่องจากกล้ามเนื้อกระบังลมเป็นอัมพาต และเมื่อผู้ติดเชื้อแสดงอาการแล้วจะไม่สามารถรักษาให้หายได้ และต้องเสียชีวิตทุกราย
ในปี 2562 แม้ว่ายังไม่พบผู้ป่วยด้วยโรคพิษสุนัขบ้า แต่ยังพบสุนัขบ้าจำนวนมากกระจายในหลายพื้นที่โดยเฉพาะพื้นที่ที่เคยพบในปีที่ผ่านมา จากรายงานของกรมปศุสัตว์ พบสุนัขบ้าแล้ว จำนวน 156 ตัว ใน 39 จังหวัด และจากการสำรวจของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นพบว่าในปี 2561 มีสุนัขและแมวรวมกันประมาณ 10,780,000 ตัว ในจำนวนนี้เป็นสุนัขร้อยละ 72 สำหรับปัญหาสุนัขกัดคนในปี 2562 ตั้งแต่ ม.ค.-มี.ค. พบสูงเกือบ 80,000 คน ในจำนวนนี้ร้อยละ 30 เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี
นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า โรคพิษสุนัขบ้าสามารถป้องกันได้ โดย 1.หลีกเลี่ยงการสัมผัสสุนัข แมว และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ที่ไม่ทราบประวัติการฉีดวัคซีน แม้จะเป็นสุนัขในบ้านที่ได้รับวัคซีนป้องกันแล้วก็ตาม อาจได้รับเชื้อพิษสุนัขบ้าจากที่สุนัขของตนเองที่ไปเล่นกับสุนัขจรจัดนอกบ้านได้ ควรนำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเป็นประจำทุกปี ขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยง และเลี้ยงสุนัขอย่างรับผิดชอบ 2.รู้จักวิธีป้องกันไม่ให้สุนัขกัดหรือทำร้าย ด้วยการยึดหลัก “คาถา 5 ย.” ดังนี้ อย่าแหย่ สัตว์เพราะอาจโดนข่วนหรือกัดได้ อย่าเหยียบบริเวณลำตัว ขา หรือหางของสัตว์ อย่าแยก สัตว์ที่กำลังกัดกัน อย่าหยิบ อาหารขณะสัตว์กำลังกิน และอย่ายุ่ง กับสัตว์ที่ไม่รู้จักคุ้นเคย และ 3.หากถูกสุนัขหรือแมว กัด ข่วน ขอให้รีบล้างแผลด้วยน้ำสะอาดและสบู่หลายๆ ครั้งอย่างเบามือ ใส่ยาฆ่าเชื้อหรือเบตาดีนที่บาดแผลทันทีหลังล้างแผลเสร็จ จากนั้นไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและพิจารณาฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และให้กักสุนัข-แมว 10 วัน เพื่อสังเกตอาการ หากสัตว์ตายลงให้รีบแจ้งปศุสัตว์ในพื้นที่ เพื่อส่งตรวจหาโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ ที่สำคัญเมื่อได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว ควรฉีดวัคซีนตามแพทย์นัดและครบชุด
นอกจากนี้ ขอแนะนำเจ้าของสัตว์เลี้ยงว่าให้นำสัตว์เลี้ยงของตนเองไปฉีดวัคซีนเป็นประจำทุกปี โดยในช่วงรณรงค์ปี 2562 มีบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา จนถึงเดือนมิถุนายน 2562 โดยขอรับบริการได้ที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใกล้บ้าน หากพบเห็นสัตว์ที่สงสัยว่าอาจเป็นโรคพิษสุนัขบ้า คือมีอาการหางตก เดินโซเซ น้ำลายย้อย ลิ้นห้อย ตาขวาง ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์หรือผู้นำชุมชนทันที หากประชาชนมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้าสอบถามได้ที่สำนักโรคติดต่อทั่วไป 0 2590 3177-8 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422