วันนี้ (15 พ.ค.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการตั้งข้อสงสัยว่าโทรศัพท์มือถือของนายจามาล คาชอกกี นักข่าวชาวซาอุดิอาระเบียที่ถูกสังหารในตุรกี อาจถูกแฮกผ่าน WhatsApp จนทำให้บทสนทนาในแอปฯ ที่พาดพิงถึงผู้มีอำนาจในซาอุดิอาระเบียเล็ดรอดออกไป และอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้มีอำนาจคนดังกล่าวออกคำสั่งสังหารนายคาชอกกี ซึ่งองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนแสดงความกังวลว่า การแฮกข้อมูลในลักษณะนี้อาจจะทำให้ชีวิตของหลายคนตกอยู่ในอันตราย รวมถึงนักเคลื่อนไหวและสื่อมวลชนที่กำลังต่อสู้กับผู้มีอิทธิพล
วอทสแอพ (WhatsApp) เป็นแอปพลิเคชันเพื่อการสื่อสาร ลักษณะคล้ายกับไลน์ ที่คนไทยนิยมใช้สื่อสารด้วยข้อความและโทรหากันได้ ซึ่งเฟซบุ๊กเป็นเจ้าของวอทสแอพ รวมถึงอินสตาแกรมและแมสเซนเจอร์
สำหรับวิธีการแฮกข้อมูล แฮกเกอร์สามารถติดตั้งสปายแวร์ ซึ่งเป็นซอฟท์แวร์สอดแนม โดยไฟแนนเชียล ไทมส์ ระบุว่า สปายแวร์ตัวนี้พัฒนาโดยบริษัท NSO Group ของอิสราเอล ส่วนวิธีการติดตั้งทำได้เพียงแค่โทรหาผู้ที่ต้องการแฮคข้อมูลผ่านวอทสแอพ แม้ว่าจะไม่มีการรับสาย แต่ซอฟท์แวร์จะถูกติดตั้งทันที ที่สำคัญข้อมูลการโทรจะไม่ปรากฏ ทำให้คนที่ถูกแฮคไม่รู้ตัวว่ามีสายแปลกปลอมโทรเข้าไป
ซอฟท์แวร์ที่ถูกติดตั้งสามารถดึงข้อมูลทั้งหมดในโทรศัพท์มือถือออกมาได้ รวมถึงสามารถสั่งการระยะไกลให้ไมโครโฟนและกล้องของโทรศัพท์มือถือทำงาน โดยที่เจ้าของเครื่องไม่รู้ตัว
ด้านเฟซบุ๊กเปิดเผยว่า พบข้อผิดพลาดในวอทสแอพเมื่อต้นเดือน เม.ย.2562 และพบว่าการแฮกข้อมูลเกิดขึ้นกับ "ผู้ใช้บางคน" และยังเร็วเกินไปที่จะระบุว่ามีคนถูกแฮกไปแล้วกี่คน
คำแนะนำจากวอทสแอพสำหรับผู้ใช้งานคือ ควรอัพเกรดแอปฯ ให้เป็นเวอร์ชันล่าสุด รวมถึงอัพเดทระบบปฏิบัติการ ไม่ว่าจะเป็นแอนดรอยด์ หรือไอโอเอส เพื่อป้องกันการเจาะข้อมูลในเครื่องมือสื่อสาร วอทสแอพระบุว่าคนกลุ่มแรกๆ ที่ได้รับการแจ้งเตือนเรื่องนี้คือกลุ่มนักสิทธิมนุษยชน บริษัทด้านความมั่นคงและกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐอเมริกา
ขณะที่ผู้แทนของแอมเนสตี อินเตอร์เนชันแนล ในอิสราเอล แสดงความกังวลว่า การแฮกวอทสแอพอาจจะทำให้ชีวิตของใครหลายคนตกอยู่ในอันตราย ซึ่งแอมเนสตีกำลังดำเนินคดีทางกฎหมาย เพื่อให้รัฐบาลถอนใบอนุญาตของ NSO Group ซึ่งก่อนหน้านี้เคยพัฒนาซอฟท์แวร์ "เพกาซัส" ที่เป็นสปายแวร์เช่นกัน และมันถูกใช้โจมตีนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนจำนวนมาก
ความชัดเจนเรื่องการแฮกวอทสแอพ ทำให้หลายคนโยงเรื่องนี้เข้ากับการฆาตกรรมจามาล คาชอกกี คอลัมนิสต์ชาวซาอุดิอาระเบีย ที่ถูกสังหารในสถานกงสุลที่นครอิสตันบูล ประเทศตุรกี เมื่อเดือน ต.ค.2561โดยเชื่อว่าโทรศัพท์ของคาชอกกีถูกแฮกเช่นกันและอาจจะเป็นที่มาของคำสั่งฆ่า
ซึ่งผู้ที่ออกมาเปิดเผยข้อมูลนี้คือ โอมาร์ อับดุลอาซิส นักเคลื่อนไหวชาวซาอุดิอาระเบีย ที่ลี้ภัยอยู่ในแคนาดาตั้งแต่ 4 ปีก่อน และเขาเป็นคนหนึ่งที่สื่อสารกับคาชอกกีผ่านวอทสแอพ โดยอับดุลอาซิสออกมาพูดถึงประเด็นนี้เมื่อปลายปี 2561 ซึ่งเขาเชื่อว่าโทรศัพท์ของเขาถูกทางการซาอุดิอาระเบียแฮกข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นเสียงการสนทนาทางโทรศัพท์ รูปภาพ วีดีโอ รวมถึงข้อความที่เขาสื่อสารกับคาชอกกีในวอทสแอพ ซึ่งมีข้อความที่วิพากษ์วิจารณ์มกุฏราชกุมารซัลมานแบบตรงไปตรงมาด้วย
ข้อความในวอทสแอพที่เชื่อว่าถูกแฮก คือข้อความในช่วงเดือน ต.ค.2560 - ส.ค.2561 มีประมาณ 400 ข้อความ เช่น ข้อความที่วิจารณ์มกุฎราชกุมารว่าพระองค์เหมือนแพคแมน ยิ่งกินเหยื่อมากเท่าไหร่ ยิ่งต้องการมากขึ้นเท่านั้น เช่นเดียวกับข้อความที่ระบุว่า ผมจะไม่แปลกใจเลย หากการกดขี่ฝ่ายตรงข้ามของมกุฎราชกุมารจะลามไปถึงคนที่สนับสนุนพระองค์ด้วย
ทั้งนี้ หากมกุฎราชกุมารซัลมาน ทรงเห็นข้อความเหล่านี้จริงก็อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้มีคำสั่งฆ่านายคาชอกกี และข่าวการแฮกวอทสแอพก็ยิ่งทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าจะมีเหตุฆาตกรรมซ้ำรอยเกิดขึ้นอีกหรือไม่ ซึ่งประเด็นนี้ทำให้ต้องย้อนกลับมาดูว่าความปลอดภัยของแอปพลิเคชันต่างๆ ที่ใช้กันอยู่ในขณะนี้มีความปลอดภัยมากน้อยเพียงใด