การตัดสินใจทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ คาดการณ์ได้ 3 แนวทาง แนวทางแรกคือ มีความเป็นไปได้สูงว่าอาจตัดสินใจร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ บนเงื่อนไขเพื่อไม่ให้พรรคเพื่อไทยและพรรคอนาคตใหม่จัดตั้งรัฐบาลได้ หรือตัดสินใจร่วมรัฐบาลบนเงื่อนไขว่าพรรคพลังประชารัฐยอมตกลงจัดสรรโควตารัฐมนตรีตามที่ต้องการ ซึ่งมีความเป็นไปได้สูง
แนวทางที่ 2 คือมีมติไม่ร่วมรัฐบาล เนื่องจากพรรคพลังประชารัฐไม่จัดสรรโควตารัฐมนตรีตามที่ตกลงกันไว้ หรือด้วยเหตุผลที่อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เคยประกาศไว้ ว่าจะไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี และแนวทางที่ 3 คือฟรีโหวต แต่เป็นแนวทางที่เป็นไปได้น้อยที่สุด เพราะจะกระทบต่อภาพลักษณ์ ความน่าเชื่อถือ และความเป็นเอกภาพของพรรค ซึ่งนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยอมรับว่า ขณะนี้ยังมีความเห็นต่างกันภายในพรรค และที่พรรคประชาธิปัตย์ยังไม่ตัดสินใจทางการเมือง เป็นเพราะพรรคพลังประชารัฐไม่มีท่าทีที่ชัดเจน
แม้จะมีการอ้างอิงถึงเงื่อนไขการผลักดันนโยบายพรรค ทั้งเรื่องค่าครองชีพ ปัญหาราคาพืชผลการเกษตร และเงื่อนไขการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นที่เป็นปัญหา แต่มีรายงานว่าคณะผู้บริหารพรรคประชาธิปัตย์มีการพูดคุยกันนอกรอบ โดยเฉพาะเงื่อนไขของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำพรรคพลังประชารัฐ ต้องการดูแลกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องการจัดสรรโควตารัฐมนตรีด้วยตัวเองหลังได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี อาจทำให้พรรคประชาธิปัตย์ตัดสินใจไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ และเป็นฝ่ายค้านอิสระ
แม้จะกำหนดการประชุมไว้ช่วงบ่ายวันที่ 4 มิ.ย.ก่อนวันเลือกนายกฯเพียงวันเดียว แต่ยังไม่มีความแน่นอนว่าพรรคประชาธิปัตย์จะมีมติออกมาหรือไม่ หากมีมติพรรคออกมาว่าไม่ร่วมรัฐบาล มีความเป็นไปได้ว่า ส.ส.ส่วนหนึ่งที่อยากร่วมรัฐบาลอาจโหวตสวนกับมติพรรค
แต่หากมีมติออกมาว่าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ ก็อาจส่งผลกระทบกับ ส.ส.บางส่วนที่ไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่เคยประกาศไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี อาจต้องทบทวนบทบาททางการเมืองกับพรรคประชาธิปัตย์และสภาชุดนี้