ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จ.เชียงใหม่ มีการประชุมหารือส่วนราชการขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะ โดยเตรียมนำร่องต้นแบบบน "ถนนนิมมานเหมินทร์" เบื้องต้นจะนำสายไฟฟ้าและสายสื่อสารลงใต้ดิน รวมถึงการวางท่อส่งประปาใหม่ พร้อมปรับปรุงทางเท้า ผิวจราจร ระบบไฟฟ้าแสงสว่างใหม่ และจะมีการติดตั้งกล้อง CCTV เพื่อดูแลความปลอดภัย
ส่วนงบประมาณการปรับปรุงและก่อสร้าง คาดว่าจะใช้ประมาณ 350 ล้านบาทในการย้ายและปรับปรุงสาธารณูปโภคพื้นฐาน ซึ่งจะบูรณาการงบประมาณจากหลายหน่วยงาน เช่น การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การประปา กรมทางหลวง และบางส่วนจากเทศบาลนครเชียงใหม่ ที่จะต้องผ่านความเห็นชอบจากสภา โดยคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างพร้อมกันในวันที่ 1 ต.ค.2563 ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 12 เดือน
สำหรับการพัฒนาเมืองอัจริยะระยะแรก รัฐบาลกำหนดเป้าหมายปี 2561-2562 เมืองอัจฉริยะจำนวน 10 เมืองใน 7 จังหวัด เช่น ภูเก็ต ขอนแก่น เชียงใหม่ ชลบุรี ส่วนระยะที่ 2 ปี 2562-2563 กำหนด 30 เมืองใน 24 จังหวัด ซึ่งก็เป็นไปอย่างล่าช้าเพราะติดปัญหาความชัดเจนโครงการ ข้อจำกัดหน่วยงานและงบประมาณ ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในขั้นเตรียมการเท่านั้น
ล่าสุด มีหนังสือคำสั่งจาก พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ประธานกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจริยะ ให้จัดตั้งสำนักงานเมืองอัจริยะประเทศไทย เพื่อเป็นหน่วยงานหลักประสานภาคส่วนต่างๆ เพื่อความคล่องตัวและลดข้อจำกัดอุปสรรคการพัฒนาเมืองอัจริยะ
ทั้งนี้ ถนนนิมานเหมินทร์ จ.เชียงใหม่ เป็นถนนที่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาตินิยมมาท่องเที่ยว เพราะเป็นแหล่งไลฟ์สไตล์ที่ผสานกับวัฒนธรรมท้องถิ่นของเชียงใหม่ ถนนเส้นนี้จึงถูกกำหนดเป็นยุทธศาสตร์สำคัญพัฒนาเป็นย่านเมืองอัจริยะ หรือสมาร์ทซิตี้
ภาคธุรกิจปรับตัวรับสมาร์ทซิตี้
ภาคเอกชนและนักธุรกิจใน จ.เชียงใหม่ เริ่มปรับตัวเพื่อรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยว โดยนายวโรดม ปิฎกานนท์ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ระบุว่า จ.เชียงใหม่ จะดำเนินการให้ถนนนิมานเหมินทร์ เป็นถนนต้นแบบสมาร์ทซิตี้ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาภาคธุรกิจมีการปรับตัวและเข้าสู่ระบบดิจิทัล เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน ทั้งระบบการซื้อขายและระบบการจ่ายเงิน
ส่วนผู้ประกอบการย่านถนนนิมานเหมินทร์ มองว่าการจะเป็นสมาร์ทซิตี้ได้นั้น นอกจากพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแล้ว การพัฒนาระบบฐานข้อมูลให้กับผู้ประกอบการก็ถือเป็นหัวใจสำคัญ เพราะผู้ประกอบการจะสามารถคำนวณต้นทุนร้านเพื่อรองรับการบริการจากนักท่องเที่ยว
ข้อสังเกตการพัฒนาเมืองอัจฉริยะเชียงใหม่
ผศ.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่า หัวใจสำคัญของสมาร์ทซิตี้ คือ การคิดและตัดสินใจดีขึ้นบนพื้นฐานของข้อมูล เพื่อคุณภาพชีวิตของคนในเมือง สร้างโอกาสทางธุรกิจและการเติบโตของเมือง
ผศ.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม
สำหรับปัญหาการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ต่อไป ผศ.ปุ่น มองว่าอาจต้องเผชิญปัญหา โดยเฉพาะข้อมูลต่างๆ ที่ปัจจุบันส่วนใหญ่อยู่ในภาคเอกชนที่ค่อนข้างหวงข้อมูล เพราะมองว่าเป็นการแข่งขันด้านธุรกิจ โจทย์ใหญ่ที่ท้าทายในการเป็นเมืองสมาร์ทซิตี้คือใครที่จะเป็นตัวกลางในการดูแลข้อมูล
โดยธรรมชาติคนจะหวงข้อมูล โดยเฉพาะในยุคใหม่ข้อมูลคือน้ำมัน คือทรัพยากร คือส่วนหนึ่งของความสามารถในการแข่งขัน ดังนั้นต้องมีคนกลางที่ทุกคนไว้ใจและสามารถร่วมมือได้
สำหรับเป้าหมายเมืองอัจฉริยะ จ.เชียงใหม่ เป็นหนึ่งในพื้นที่เป้าหมายที่รัฐบาลจะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยและชาญฉลาด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการให้บริการและการบริหารจัดการเมือง ลดค่าใช้จ่ายและการใช้ทรัพยากรของเมือง เน้นการออกแบบที่ดีและการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจและภาคประชาชนในการพัฒนาเมือง ภายใต้แนวคิดการพัฒนา เมืองน่าอยู่และทันสมัย ให้ประชาชนในเมืองมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุขและยั่งยืน