ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"สุรศักดิ์ ทองสุกดี" คนเฝ้าวาฬบรูด้า

สิ่งแวดล้อม
22 มิ.ย. 62
10:55
2,786
Logo Thai PBS
"สุรศักดิ์ ทองสุกดี" คนเฝ้าวาฬบรูด้า
ไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์ นายสุรศักดิ์ ทองสุกดี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ทช. เกี่ยวกับสถานการณ์ของวาฬบรูด้าในทะเลอ่าวไทย หลังพบว่าวาฬบรูด้าตายแล้ว 3 ตัวในช่วงเวลาเพียง 1 เดือน ขณะที่ภัยคุกคามยังเป็นเครื่องมือประมง

ถือเป็นข่าวเศร้าของวงการอนุรักษ์ เมื่อพบวาฬบรูด้า สัตว์ทะเลหายากที่เพิ่งได้รับการบรรจุเป็นสัตว์สงวนของไทยลำดับที่ 16 ตายพร้อมกันในช่วงเวลา 1 เดือน นับจากวันที่ 29 พ.ค.- 20 มิ.ย.นี้ มีวาฬบรูด้าตายแล้ว 3 ตัว ข้อมูลจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ประเมินว่าท้องทะเลไทยมีประชากรเพียง 50-70 ตัวเท่านั้น 

วาฬบรูด้าทะเลไทยมีเหลือกี่ตัว

ช่วงหลายปี มีการสำรวจประชากรวาฬบรูด้าในทะเลไทย มีตัวเลขถึง 70 ตัวแล้ว แต่ปัญหาว่าตัวที่ล้มตายไป บางทียังไม่สามารถตัดตัวไหนที่เคยสำรวจออกไปได้ ยกเว้นถ้านับย้อนหลังในช่วง 3-5 ปีที่ไม่เจอตัว หรือในรอบปีที่สำรวจแล้วยังเจอน่าจะมี 40-50 ตัวที่ได้ตั้งชื่อเอาไว้ 

แต่บางครั้งหนึ่งเดือนออกทะเล 5-6 วันไม่เจอ ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีวาฬบรูด้าอยู่ เพราะยังมีที่นักท่องเที่ยวเจอในที่อื่นๆ หรือเป็นตัวอื่นด้วย แต่บอกไม่ได้ว่ามันมีแค่นี้หรือมีมากกว่านี้ เพราะบางตัวอาจจะไม่ขึ้นมาที่อ่าวไทยตอนบน บางตัวอาจจะขึ้นมา เช่น แม่ตองอ่อน อาจจะป้วนเปี้ยนที่ จ.สุราษฎร์ธานี  

สถิติเกิด-ตาย น่าห่วงแค่ไหน

ถ้านับระยะเวลาของปีนี้ เพียงแค่หนึ่งเดือนตั้งแต่ พ.ค.- มิ.ย.62 มีวาฬบรูด้า ตาย 3 ตัว แต่ภายในปีนี้เจอลูกของแม่สาคร เพียง 1 ตัวที่ยืนยันชัดเจน ส่วนอีก 1 ตัวมีการแจ้งว่าเจอลูกของแม่ตองอ่อน แถวๆปากแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ต้องรอยังไม่ยืนยันชัดเจนก่อน ดังนั้นถ้าเทียบอัตราการเกิด กับอัตราการตายจึงมีมากกว่า

เพราะวาฬบรูด้า กว่าจะเติบโต และใช้ชีวิต จนมีลูกได้อาจใช้เวลาถึง 6 ปี รวมทั้งปริมาณอาหาร ที่เป็นตัวควบคุมประชากร เขาอาจจะหากินในพื้นที่วงจำกัดได้ 

ตาย 3 ตัวใน 1 เดือนผิดปกติหรือไม่

ถ้าถามว่าตายพร้อมกัน 3 ตัวพร้อมกันแบบนี้ จะถือว่าผิดปกติหรือไม่ มันไม่ผิดปกติ ตราบใดที่เรายังทำเครื่องมือประมงในทะเล เพราะใน พ.ร.บ.ประมง มีวิธีการ 2 แบบ คือห้ามโดยพื้นที่จากระยะ 3 ไมล์ทะเลจากชายฝั่ง หรือประมาณ 5.4 กิโลเมตรจากชายฝั่ง แต่พ้นจากแนวนี้ก็ทำประมงได้แล้ว มีทั้งเรือประมงอวนลาก อวนล้อม ซึ่งไม่ใช่เครื่องมือประมงผิดกฎหมาย ส่วนที่ผิดกฎหมายคือพวกเรืออวนรุน ระเบิดปลาใช้ยาเบื่อสารพิษ หรือเรือล้อมปั่นไฟจับปลากะตัก

ตราบใดที่เรายังทำการประมง และสัตว์ทะเลหากินในพื้นที่ชายฝั่ง การทับซ้อนในพื้นที่มีอยู่แล้ว เลี่ยงไม่ได้ 

โดยปกติไทยไม่มีการทำประมงล่าสัตว์น้ำขนาดใหญ่ เช่น วาฬอยู่แล้ว เพราะชาวประมงนับถือวาฬบรูด้า ว่าเป็นพ่อปู่ ปลาปู่ ปลาเจ้า จะไม่ทำร้ายอยู่แล้ว เพราะถือว่าเป็นรื่องเลวร้ายมาก แต่กรณีถ้าติดเครื่องมือประมงก็อาจจะติดแบบไม่ตั้งใจ บางครั้งถ้าเจอเต่าทะเล ชาวประมงจะช่วยแกะได้ แต่หากเป็นวาฬตัวขนาด 10 เมตร หนัก 10 ตันอาจจะเกิดอันตรายถ้าไปช่วยเหลือ ตรงนี้จะแก้อย่างไร

ภาพ:กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)

ภาพ:กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)

ภาพ:กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)

ในมุมคนทำวิจัยเรื่องวาฬบรูดาถือเป็นความสูญเสีย

ในแต่ละปีจะมีโอกาสที่สัตว์ทะเลขนาดใหญ่ตายอยู่แล้ว ถ้าตายโดยธรรมชาติ ป่วยตายไม่ค่อยเท่าไหร่ แต่ส่วนใหญ่จะตายจากเครื่องมือประมง เช่น เคสของเจ้าปิ่น วาฬบรูด้าตัวเมีย อายุ 2 ปีที่เคยสำรวจในปี 2560 และมีการถ่ายภาพ ตั้งชื่อไว้ แต่ตายในทะเลบ้านแหลม จ.เพชรบุรี และเมื่อตรวจสอบพบว่าตายจากจากเครื่องมือประมงเพราะว่ามีรอยอวนบนลำตัว ส่วนตัวที่ จ.สมุทรปราการ บอกสาเหตุไม่ได้ เพราะสภาพเน่ามาก ส่วนตัวที่ 3 ที่จ.สุราษฎร์ธานี ถือว่าสภาพยังสมบูรณ์มากน่าจะตรวจสอบได้

บางทีเราผ่าพิสูจน์ เจออาหารในกระเพราะอาหาร จะไปบอกว่าสัตว์พวกนี้ป่วยตายไม่ได้ ต่างจากคนถ้าไม่สบายจะกินอะไรไม่ได้ ส่วนสัตว์เป็นสัตว์ป่า ถ้าเขาไม่สบายเขาจะพยายามเอาตัวรอด ด้วยการกินอาหารยังต้องกินอาหารเพื่อให้เขารอด ดังนั้นจึงไม่สามาถสรุปสาเหตุป่วยโรคได้ทันที เพราะต้องผ่าชิ้นเนื้อ และตรวจดีเอ็นเอ กับหมอว่าชั้นไขมันของวาฬมีความหนาหรือไม่  

เฟซบุ๊ก : surasak thongsukdee

เฟซบุ๊ก : surasak thongsukdee

เฟซบุ๊ก : surasak thongsukdee

ภัยคุกคามวาฬบรูด้า

สุรศักดิ์ ยอมรับว่า ภัยคุกคามอันดับต้นๆ ยังเป็นเครื่องมือประมง บางอย่างที่เป็นอันตรายกับสัตว์ทะเล แต่ไม่ใช่เครื่องมือประมงที่ผิดกฎหมาย เช่น อวนลาก ที่มีปากอวนใหญ่ลากได้ตลอดเวลา และหากมีสัตว์หลุดเข้าไปในปากอวน ก็จะหลุดออกมายาก เช่นที่เคยเจอฉลามวาฬติดข้าไป นอกจากนี้ยังมีอวนจมปู ลอบปู และเครื่องมือประมงบางอย่าง มีเส้นเล็ก แม้จะไม่ได้ทำให้สัตว์ตายทันที แต่ถ้าติดตัวสัตว์ไป จะทำให้สัตว์พิการ ถูกพันถูกรัดตามครีบหาง และค่อยรัดจนเป็นบาดแผลลึกและขาด

เราเจอวาฬบรูด้า หลายตัวมีปลายแพนหางขาด อาจเกิดจากการถูกอวน ถูกเชือกบาดกินลึกไปในครีบ

ส่วนภัยคุกคามอื่นๆ ก็ยังมีขยะทะเล ถุงพลาสติกที่บางครั้งการกินอาหารของสัตว์พวกนี้ อ้าปากกินปลา บางทีอาจจะเจอพลาสติกเข้าไปไม่รู้ตัวที่ติดเข้ามา นอกจากนี้ยังมีสิ่งแวดล้อมและคุณภาพน้ำที่ไม่สะอาดจะมีผลให้ปริมาณสัตว์น้ำ อาหารของวาฬไม่เพียงพอ และอาหารไม่สมบุรณ์ สัตว์กลุ่มนี้ก็จะไม่ขึ้นมาหากิน และไปหากินในบริเวณอื่นแทน

แผนสำรวจเพิ่มเติมในอนาคต

ขณะนี้การสำรวจสัตว์ทะเลหายาก ให้ในแต่ละพื้นที่สำรวจในพื้นที่ของตัวเอง รวมทั้งความร่วมมือจากกลุ่มโซเชียล ที่ช่วยแจ้งพบสัตว์พวกนี้ และสัตว์เกยตื้นแจ้งศูนย์ช่วยเหลือ ทำให้มีข่าวสารเกี่ยวกับวาฬบรูด้า และสัตว์ทะเลหายากมาต่อเนื่อง ทั้งนี้พบว่า วาฬบรูด้าในทะเลไทยหากินใกล้ชายฝั่ง เพราะอาหารคือ ปลากะตักแก้ว ปลากะตักควาย ปลาทู เคยโกร่ง ปกติจะหากินแบบตัวเดียว ยกเว้นเฉพาะคู่แม่ลูกที่จะอยู่ด้วยกันตลอดเวลา

ข้อมูลจากศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบน ได้ศึกษาจำแนกประชากรปลาวาฬบรูด้าโดยการใช้ภาพถ่าย (Photo Identification, Photo-ID) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551- ปัจจุบัน อาศัยตำหนิบริเวณครีบหลัง ส่วนหัว ตลอดจนตำหนิบริเวณต่างๆ ตามลำตัว สามารถจำแนกความแตกต่างของปลาวาฬบรูด้าได้มากถึง 59 ตัว

เช่น เจ้าบางแสน ครีบหลัง รอยแหว่ง ที่ฐานครีบ ลำตัว ด้านหลังของครีบหลังโก่ง ปาก : แนวขอบซี่กรองด้านขวาไม่เรียบเสมอกัน หาง  แผลที่ปลายหางด้านซ้าย

เจ้าส้มตำ ครีบหลัง มีรอยแหว่งตรงกลาง ลำตัว รอยแผลตื้น 2 รอย บนลำตัวด้านขวา

เจ้าสายลม หรือเจ้าท่าฉลอม ลักษณะครีบหลังสมบูรณ์ใช้ลักษณะลายขอบปากดานขวามีเส้นสีดำ 1 เส้นที่เพดานปากด้านบน  

วาฬบรูด้า บางตัวมีการเคลื่อนย้ายตามอาหารไปทางด้านล่างของอ่าวไทย เช่นที่เคยพบบริเวณบ้านบ่อนอก จ.ประจวบคีรีขันธ์ บริเวณที่พบวาฬบรูด้านั้นอยู่ห่างจากชายฝั่งทะเลตั้งแต่ 4-30 กิโลเมตร สามารถพบได้ตลอดทั้งปีในพื้นที่อ่าวไทยตอนบน ช่วงเวลาที่พบบ่อยอยู่ระหว่างเดือนเม.ย.-ก.ย.ของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีปลากะตัก และกุ้งเคยอุดมสมบูรณ์

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เร่งไขปริศนา! 1 เดือน "วาฬบรูด้า" ตาย 3 ตัว-ล่าสุดโผล่ทะเลชุมพร

"วาฬบรูด้า" เกยตื้นตายอีก 1 ตัวใกล้ป้อมพระจุลฯ

27 ปีที่รอคอย "4 สัตว์ทะเล" บรรจุกฎหมายสัตว์ป่าฉบับใหม่

ทช.สรุป "เจ้าปิ่น" วาฬบรูด้าติดอวนจมน้ำตาย-ไม่พบพลาสติก

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง