วันนี้ (24 มิ.ย.2562) นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวว่า ได้รับรายงานจากศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน (ภูเก็ต) ว่า วันนี้ มาเรียม พะยูนน้อยที่ดูแลที่เกาะลิบง จ.ตรังมีสุขภาพ แข็งแรง ร่าเริงดี อัตราการเต้นหัวใจ 63 ครั้งต่อนาที การหายใจ 1-2 ครั้งต่อนาที ช่วงว่ายน้ำ 1 ครั้งใน 3-5 นาที กินได้ดี ปริมาณนมที่ให้ 3.4 ลิตร โดยให้นมตั้งแต่เวลา 08.40-18.30 น. เริ่มให้นมช้าเนื่องจากฝนตกหนัก ป้อนหญ้าทะเลชนิดใบมะกรูด ประมาณ 100 กรัม มีการขับถ่ายได้ดี ทั้งช่วงเช้าและบ่าย ลักษณะอุจจาระปกติ
มาเรียมเริ่มโตขึ้น และว่ายน้ำออกไปไกลขึ้น ตอนนี้เป็นช่วงมรสุม ทำให้ต้องดูแลมาเรียมให้ปลอดภัย ที่เราคุยกันว่าต้องดูแลอย่างน้อย 6 เดือนถึง 1 ปี เพื่อให้มั่นใจว่าสามารถอยู่ในธรรมชาติได้ด้วยตัวเอง จึงต้องฝึกการกินหญ้าทะเล และการกินนม ยอมรับว่าตอนนี้ต้องปรับแผนดูแลมาเรียมแบบรายวัน
นายจตุพร กล่าวว่า ขณะนี้มีทีมสัตวแพทย์ 2 กรมทั้ง ทช.และกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ร่วมกันดูแล ไม่น่าจะมีปัญหาในการดูแลสุขภาพของมาเรียมและแข็งแรง ก่อนออกไปใช้ชีวิต ซึ่งล่าสุดเตรียมจะลงพื้นที่ในช่วงปลายสัปดาห์นี้ เพื่อหารือร่วมกับทางจังหวัดตรัง และเครือข่าย ในการรวมกลุ่มเพื่อจัดหากองทุนดูแลมาเรียมแบบยั่งยืนต่อไป
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง สัตวแพทย์ ทช.ทำจุกนม DIY ป้อน "มาเรียม"
ฝึก "มาเรียม" ใช้ชีวิตเพื่อถึงช่วงเวลาเธอต้องจากไป
ขณะที่ ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนวงศ์ ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน จ.ภูเก็ต โพสต์เฟซบุ๊ก Kongkiat Kittiwatanawong ระบุว่า สุขภาพของมาเรียมดีขึ้นตามลำดับ หลังจากได้รับการดูแลอย่างถูกวิธีในธรรมชาติอันเป็นที่คุ้นเคยของมาเรียม ร่องรอยความเครียด ซึ่งพบเห็นได้จากรอยด่างขาวบริเวณลำตัวในช่วงแรก หายไปในช่วงเวลาที่ทีมอนุบาลและฟื้นฟูมาเรียมทำงานอย่างแข็งขัน ปัจจุบันมาเรียมมีน้ำหนักและรอบเอวที่เพิ่มมากขึ้น
ขณะนี้มาเรียมอายุเกือบ 7 เดือนแล้ว ความเข็งแรงประกอบกับพฤติกรรมความอยากรู้อยากเห็นในการสำรวจสภาพแวดล้อมตามประสาเด็ก อาจทำให้เจ้าหน้าที่หาตัวได้ยากบางครั้ง และอาจยากมากไปอีก
เมื่อมาเรียมโตขึ้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกเลย เพราะถึงช่วงเวลานึงเธอต้องจากไป เช่นเดียวกับลูกพะยูนตัวอื่นที่แยกจากแม่
เราอาจแก้ปัญหาโดยการใช้เครื่องมือติดตามขนาดจิ๊วติดบริเวณคอดหาง เพื่อตามตัวมากินนมได้ง่ายขึ้น ร่วมกับการใช้แม่พะยูนปูนจำลองวางใต้น้ำ และมีแม่ส้ม (เรือคายัคสีส้ม) เพื่อให้มาเรียมรู้สึกอบอุ่นและอยู่ในพื้นที่ๆต้องการ
เราสามารถช่วยดูแลให้มาเรียมอยู่อย่างปลอดภัยในธรรมชาติได้ถ้าทุกคนช่วยกัน ผมเชื่อว่านั่นเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับอนาคตของมาเรียม ซึ่งต้องเรียนรู้และฝ่าฟันอุปสรรคเพื่อใช้ชีวิตต่อไปให้ได้ด้วยตนเองและอยู่ร่วมกับพะยูนตัวอื่นๆ โดยมีเราเฝ้าระวังและดูแลอยู่ห่างๆ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
"มาเรียม" ตำราเล่มใหม่ "คนเลี้ยงพะยูน"
ปรับแผนให้นม "มาเรียม" ตอนกลางคืนหลังน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์