วันนี้ (1 ก.ค.2562) นพ.ภาสกร ชัยวานิชศิริ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคเบาจืดเป็นโรคที่สามารถพบได้ทุกวัย แม้พบได้น้อยมาก โดย 100,000 คน จะพบผู้ป่วยเพียง 3-4 คน แต่โรคเบาจืดเป็นโรคที่ไม่มียารักษาให้หายขาด ต้องกินยาไปตลอดชีวิต
การสังเกตอาการของโรคนี้ คือ ปัสสาวะบ่อยและปัสสาวะครั้งละมาก ๆ ปัสสาวะมักไม่มีสี หรือกลิ่น เมื่อร่างกายเสียน้ำไปมาก ทำให้ผู้ป่วยกระหายน้ำบ่อย หากดื่มน้ำทดแทนส่วนที่เสียไปไม่ทันหรือไม่เพียงพอ อาจเกิดภาวะขาดน้ำรุนแรง ทำให้ซึม ไม่รู้สึกตัว และช็อก หรือหมดสติ เนื่องจากร่างกายไม่สามารถรักษาสมดุลของน้ำในร่างกาย
นอกจากนี้ อาจพบอาการปวดบริเวณเอว ท้องน้อย เนื่องจากการคั่งของปัสสาวะบริเวณท่อไต กรวยไต กระเพาะปัสสาวะ ส่งผลให้อวัยวะดังกล่าวโตขึ้น สาเหตุหลักของโรคเกิดจากร่างกายไม่สามารถหลั่งฮอร์โมนออกมาได้ เช่น ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดบริเวณใกล้ต่อมใต้สมอง มีผลแทรกซ้อนตามมาทำให้เกิดโรคเบาจืด และไตผิดปกติแต่กำเนิด โดยช่วงแรกเกิดจะไม่ค่อยแสดงอาการของโรคเบาจืด แต่จะแสดงอาการเมื่ออายุประมาณ 1-3 ขวบ หรือพบในบางคนเมื่อเป็นผู้ใหญ่แล้ว
แนะดื่มน้ำเพียงพอ-เลี่ยงอาหารเค็ม
ขณะที่ นพ.วิบูลย์ กาญจนพัฒนกุล รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กล่าวว่า หากสงสัยว่าเป็นโรคดังกล่าวต้องพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัยและหาสาเหตุของโรค เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง
วิธีการรักษาและปฏิบัติตัวที่สำคัญของผู้ที่เป็นโรคเบาจืด คือ ควรดื่มน้ำให้เพียงพอ หากอยู่ในที่อากาศร้อนจัด ร่างกายต้องสูญเสียน้ำไปทางผิวหนังมาก หรือคนไข้ที่มีอาการท้องเดิน ท้องเสีย ต้องพยายามทดแทนโดยการดื่มน้ำเปล่าให้มาก หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็มจัด เพราะอาหารที่เค็มจัดจะมีเกลือมาก ร่างกายจะขับเกลือออกมาทางไตและออกมากับปัสสาวะ เป็นสาเหตุให้ร่างกายถูกดึงน้ำออกไป จึงทำให้ขาดน้ำมากขึ้น ใช้ยาตามแพทย์สั่งให้ครบและตรงเวลาสม่ำเสมอห้ามหยุดยาหรืองดยาไปเอง เพราะโรคนี้จำเป็นต้องใช้ยาควบคุมเสมอ ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้ โรคเบาจืดมักเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาด ผู้ป่วยต้องใช้ยาฮอร์โมนทดแทนตลอดชีวิต หากสงสัยว่าอาจเป็นโรคเบาจืดควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยต่อไป เนื่องจากภาวะเบาจืดอาจเป็นอาการของโรคทางสมอง โรคเลือด หรือความผิดปกติแต่กำเนิดบางอย่างได้