ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

กรมป่าไม้ชูโมเดล "สายตรวจขยะ" ตั้งเป้าลดขยะพลาสติกเป็นศูนย์

สิ่งแวดล้อม
23 ก.ค. 62
11:19
1,490
Logo Thai PBS
กรมป่าไม้ชูโมเดล "สายตรวจขยะ" ตั้งเป้าลดขยะพลาสติกเป็นศูนย์
กรมป่าไม้ นำร่องห้ามนำถุงพลาสติกขึ้นตึก พร้อมตั้งทีมสายลับจับขยะ บุกตรวจทุกห้องสัปดาห์ละ 1 ครั้ง หากพบใครหิ้วถุงพลาสติก ถูกจับได้แชะภาพส่งตรงถึง ผอ.สำนัก ถูกตัดคะแนน ตั้งเป้าลดขยะเป็นศูนย์ภายในปี 2565

ภายหลัง ครม.มีมติ เมื่อวันที่ 17 ก.ค.2561 ให้ทุกหน่วยงานภาครัฐสนับสนุนการลดและคัดแยกขยะมูลฝอย รวมทั้งลดใช้ถุงพลาสติก ซึ่งกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่ให้ความสำคัญและดำเนินมาตรการเข้มงวด ตั้งเป้าลดขยะพลาสติกเป็นศูนย์

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า ขณะนี้กรมป่าไม้ตั้งชุด  "สายตรวจขยะ" โดยมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ 1 ชุด เดินตรวจและถ่ายรูปเจ้าหน้าที่ หรือพนักงานที่ถือถุงพลาสติกเข้ามาในพื้นที่ ก่อนส่งหนังสือลับไปยังต้นสังกัดเพื่อตักเตือน แม้ขณะนี้ทุกคนยังไม่เลิกใช้ถุงพลาสติก หรือแก้วพลาสติก แต่ภาพรวมดีขึ้นกว่าช่วงเริ่มดำเนินโครงการเมื่อ 3 เดือนที่ผ่านมา และหลายคนเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรม จนกลายเป็นความเคยชินในการใช้ถุงผ้า หรือใช้แก้วแบบใช้ซ้ำได้

 

อรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้

อรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้

อรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้

 

การเปลี่ยนพฤติกรรมของคนไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องบังคับร่วมด้วย ทำจนทุกคนไม่กล้าถือถุงพลาสติก สุดท้ายจะกลายเป็นความเคยชินเอง

ไม่ใช่สั่งคนอื่นทำตามมาตรการเท่านั้น อธิบดีกรมป่าไม้ ยืนยันว่าตัวเองก็พกถุงผ้าในรถยนต์ เพื่อนำใช้เมื่อจับจ่ายสินค้าในห้างสรรพสินค้า หรือที่อื่น ๆ โดยเตรียมหารือกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เพื่อขอความร่วมมือพ่อค้าแม่ค้าตลาดนัดในกรม ช่วงวันพุธและพฤหัสบดี งดใช้ถุงพลาสติกแบบหูหิ้ว พร้อมตั้งเป้าให้หน่วยงานทั้งส่วนกลางและต่างจังหวัดปลอดถุงพลาสติกภายในเดือนกันยายนนี้


ผมอยากให้ตลาดนัดไม่มีถุงพลาสติกเลย ตรงนี้เป็นเรื่องที่ท้าทาย

สายตรวจขยะ สอดส่องลดใช้พลาสติก  

วันนี้จะเข้าตรวจทุกห้องในกรมฯ ให้คะแนนบวกและคะแนนลบ พร้อมจัด 3 ลำดับดีที่สุด และ 3 อันดับท้ายสุด พงศ์ปกรณ์ ผิวผ่อง อธิบายการทำงานของชุดปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารและประสานงานภารกิจอธิบดีกรมป่าไม้ หรือสายตรวจขยะ ที่มีเจ้าหน้าที่ประมาณ 6 คน เดินตรวจตามห้องต่าง ๆ โดยไม่แจ้งล่วงหน้า สัปดาห์ละ 1 ครั้ง เพื่อนับจำนวนขยะพลาสติก ทั้งถุงหูหิ้ว ขวดน้ำพลาสติก แก้วน้ำพลาสติก กล่องโฟม ให้เป็นคะแนนติดลบ

 

 

ส่วนใครพกถุงผ้า แก้วน้ำแบบใช้ซ้ำ ปิ่นโต และกล่องใส่อาหาร จะได้รับคะแนนบวก โดยนำคะแนนมารวมและจัดอันดับสำนักที่มีคะแนนสูงสุด 3 ลำดับ เพื่อมอบรางวัล เช่น ถุงผ้า หมวก ส่วน 3 อันดับท้ายสุดจะถูกตักเตือนเพื่อให้ปรับปรุง

ส่วนเจ้าหน้าที่ไม่ให้ความร่วมมือ หรือถือถุงพลาสติกเข้ามาจำนวนมาก ทีมงานจะถ่ายรูป พร้อมระบุชื่อ นามสกุล ส่งเป็นหนังสือลับไปยังผู้อำนวยการสำนัก เพื่อกตักเตือน ที่ผ่านมามีหนังสือลับไปเกิน 10 คน

 

 

อย่างไรก็ตาม จะทำงานในด้านรณรงค์ด้วย เช่น ลงพื้นที่ทำความเข้าใจและขอความร่วมมือลดใช้ถุงพลาสติกในตลาดนัดทุกวันพุธ แรก ๆ พ่อค้าแม่ค้าไม่ค่อยให้ความร่วมมือ แต่ขณะนี้สถานการณ์ดีขึ้น มีการนำถุงผ้ามาให้ลูกค้ายืม บางเจ้าเปลี่ยนมาใช้ถุงที่ย่อยสลายได้ แต่ยังไม่ตอบโจทย์ เพราะกรมควบคุมมลพิษ ต้องการให้ลดนวนขยะด้วยการใช้ถุงผ้า หรือแก้วใช้ซ้ำ ไม่ใช่หาสิ่งทดแทน

เจ้าหน้าที่เลือกซื้อถุงผ้าในตลาดนัด

เจ้าหน้าที่เลือกซื้อถุงผ้าในตลาดนัด

เจ้าหน้าที่เลือกซื้อถุงผ้าในตลาดนัด


คนไม่เห็นด้วยเพราะคิดว่าเป็นกิจวัตรประจำวัน ก็พยามยามบอกและเตือน

ล่าสุด ผลการตรวจและติดตามของคณะกรรมการประเมินหน่วยงานต้นแบบ เรื่องการลดและคัดแยกขยะ พบว่าเป็นที่น่าพอใจ กรมควบคุมมลพิษ และตัวแทนกรมต่าง ๆ ชื่นชมกรมป่าไม้ว่าปรับตัวจากปีที่แล้วมาก ปริมาณขยะลดลงร้อยละ 70-90 แต่ผลตรวจรายเดือนมีปริมาณขยะลดบ้างเพิ่มบ้าง ซึ่งอธิบดีกรมป่าไม้ ยังไม่พอใจตัวเลข เนื่องจากมีการใช้โฟมบรรจุอาหารหลักหมื่นใบ และตั้งเป้าให้เป็นศูนย์


คนที่ถือถุงพลาสติกลดลงอย่างเห็นได้ชัด แต่อธิบดียังไม่พอใจและออกหนังสือห้ามนำถุงพลาสติก เข้ามาในกรมป่าไม้ ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค
พยอม ทองสว่าง

พยอม ทองสว่าง

พยอม ทองสว่าง


พยอม ทองสว่าง เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป กรมป่าไม้ บอกว่า มาตรการดังกล่าวไม่ได้ทำให้ใช้ชีวิตยุ่งยากขึ้น เพราะปกติจะถือถุงผ้าและนำกล่องไปใส่กับข้าว อีกทั้งรู้สึกดีที่เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยกันลดขยะ ซึ่งก่อนหน้านี้ใช้ถุงพลาสติกค่อนข้างมาก หากไม่มีกล่องใส่อาหารก็ได้ถุงพลาสติกมาอย่างน้อยร้านละ 1 ถุง ซื้อหลายร้านก็หลายถุง

 

 

ลด-เลิกใช้ถุง ประหยัดต้นทุน

มาตรการลดใช้ถุงพลาสติก ไม่เพียงเป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ช่วยประหยัดต้นทุนของผู้ประกอบการด้วย พรทิพย์ มาลีหวล ลูกจ้างร้านค้าสวัสดิการ บอกว่า เมื่อไม่ใช้ถุงพลาสติกก็ประหยัดค่าใช้จ่าย ควบคู่กับการลดโลกร้อน ขณะนี้เจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ในกรมป่าไม้ และกรมอุทยานฯ จะถือถุงผ้าติดตัวตลอด บางคนถือปิ่นโต ส่วนลูกค้าก็ขอถุงพลาสติก หรือหลอดลดลงมาก จากเมื่อก่อนใช้ถุงพลาสติกเดือนละ 2 กิโลกรัม หรือคิดเป็นเงิน 180 บาท ทุกวันนี้ลดลงเหลือเดือนละไม่ถึงครึ่งกิโลกรัม


คนที่ไม่ได้ถือถุงผ้ากลับรู้สึกอายแล้วนะตอนนี้ เขาช่วยกันดีมาก ไม่รับถุง ไม่รับหลอด

 

 

สำหรับสถิติล่าสุด เดือนพฤษภาคม 2562 กรมป่าไม้มีจำนวนขยะมูลฝอย 2,231 กิโลกรัม แบ่งเป็นถุงพลาสติก 3,239 ใบ แก้วพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง 2,563 ใบ และโฟมบรรจุอาหาร 315 ใบ แม้จะยังพบการใช้ขยะพลาสติก แต่อธิบดีกรมป่าไม้ ยืนยันว่า ตัวเลขดังกล่าวลดลง และเร่งดำเนินมาตรการต่าง ๆ สู่เป้าหมายลดขยะพลาสติกเป็นศูนย์ 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง