ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

พบพะยูนตายเพิ่ม 2 ตัว เร่งหาสาเหตุ

สิ่งแวดล้อม
14 ก.ค. 62
15:47
1,036
Logo Thai PBS
พบพะยูนตายเพิ่ม 2 ตัว เร่งหาสาเหตุ
กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เร่งหาสาเหตุพะยูนตาย หลังพบซากขนาดใหญ่ บริเวณเกาะไม้ไผ่ ห่างหมู่เกาะพีพีแค่ 20 กม. ขณะที่นักวิชาการ ทช.กังวลพะยูนเกยตื้นตายอีก 2 ตัววันที่ 14 ก.ค.ที่ผ่านมา รวมตาย 7 ตัวในระยะ 2-3 เดือน

วันนี้ (14 ก.ค.2562) นายวรพจน์ ล้อมลิ้ม หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งจากชาวประมงพื้นบ้าน พบซากพะยูนลอยอยู่ในทะเลระหว่างเกาะปูกับเกาะพีพี โดยซากพะยูนมีขนาดใหญ่เรือหางไม่สามารถลากได้ จึงช่วยกันเอาเชือกผูกติดไว้กับเรือแล้วโทรแจ้งเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพีรับทราบ

จากนั้นประสานให้เจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ พพ.3 (เกาะไม้ไผ่) นำเรือยางท้องแข็งไปที่จุดที่ได้รับแจ้ง เพื่อนำซากพะยูนมาไว้ที่เกาะไม้ไผ่ก่อน พบว่าจุดที่พบซากพะยูนอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของเกาะไม้ไผ่ ห่างจากเกาะไม้ไผ่ ประมาณ 20 กิโลเมตร อยู่นอกเขตอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี

 

ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

 

จากการตรวจสอบเบื้องต้น พบเป็นพะยูนเพศผู้ ความยาว 2.30 เมตร น้ำหนักประมาณ 400 กิโลกรัม ไม่พบบาดแผลบริเวณลำตัวแต่อย่างใด จึงให้เจ้าหน้าที่นำเรือยนต์ตรวจการณ์ของอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จากที่ทำการอุทยานแห่งชาติฯ ไปที่เกาะไม้ไผ่ เพื่อนำพะยูนตัวดังกล่าวกลับมาที่ฝั่ง เพื่อนำส่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง ให้สัตว์แพทย์ผ่าพิสูจน์ซากหาสาเหตุการตายต่อไป

 

ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

 

พะยูน "ตรัง-กระบี่" ตายเพิ่มอีก 2 ตัว รวมเป็น 7 ตัว


ขณะที่นายก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน (ภูเก็ต) กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กที่ชื่อว่า Kongkiat Kittiwatanawong ระบุว่า สรุปสถานการณ์พะยูนเกยตื้นในวันนี้ พบเสียชีวิตอีก 2 ตัว รวมเป็น 5 ตัว ที่เสียชีวิตทั้ง จ.ตรัง และกระบี่ และรวมเป็น 7 ตัว เมื่อรวมมาเรียมและยามีล

ตอนนี้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งกำลังเร่งศึกษาพิกัดที่เกิดเหตุ โดยความร่วมมือของนักวิชาการด้านสมุทรศาสตร์โมเดล เมื่อรวมกับข้อมูลการชันสูตรจะทำให้เราทราบว่าเหตุเกิดที่ไหนและเกิดอย่างไร นอกจากนี้ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งก็ได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่ในการเฝ้าระวังครอบคลุมพื้นที่การแพร่กระจายของพะยูนทั้งหมด

 

ภาพ : เฟซบุ๊ก Kongkiat Kittiwatanawong

ภาพ : เฟซบุ๊ก Kongkiat Kittiwatanawong

ภาพ : เฟซบุ๊ก Kongkiat Kittiwatanawong

 

มีข้อสังเกตว่าระยะนี้ ชาวบ้านทำประมงพื้นบ้านมากขึ้น เพราะสัตว์น้ำเยอะขึ้นผิดกับปีที่แล้ว อย่างช่วงนี้ปกติอวนสามชั้นกุ้งจะไม่ทำแล้ว แต่ปีนี้กุ้งเยอะ อวนสามชั้นก็ยังทำอยู่ กุ้งก็ตัวโตๆ เรือจับสัตว์น้ำได้ เรือหนักจนแทบจะจมในบางลำ ซึ่งจากข้อมูลการเสียชีวิตของพะยูนในรอบ 30 ปี เราพบว่าเกือบ 90% เกิดจากการติดเครื่องมือประมง "โดยบังเอิญ"

 

แนะระวังวางอวนใกล้แหล่งหากิน "พะยูน-เต่าทะเล"


นายก้องเกียรติ ระบุว่า คงต้องฝากความหวังเรื่องการทำประมงพื้นบ้านที่ทำในบริเวณใกล้แหล่งหญ้าทะเล ซึ่งเป็นแหล่งหากินของพะยูนและเต่าทะเลให้ช่วยระวังและป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับสัตว์สงวนและคุ้มครองทั้งสองสายพันธุ์นี้ด้วย ถ้าวางอวนก็ขอให้ช่วยเฝ้าเครื่องมือเผื่อกรณีติดอวนจะได้ช่วยเหลือได้ทัน

ส่วนประเด็นเรื่องการล่าเพื่อเอาเขี้ยวพะยูน ส่วนตัวผมคิดว่ามีความเป็นไปได้น้อยกว่า แต่คิดว่าเป็นการพยายามตัดเอาหลังจากพบซากแล้วมากกว่า เพราะร่องรอยการกระทำเกิดหลังจากที่พะยูนเสียชีวิตแล้ว เรื่องนี้อยู่ที่จิตสำนึกเป็นหลักแล้ว ถ้าพบการครอบครองก็ผิดกฎหมายอยู่แล้ว

ทั้งนี้ จากข้อมูลจากการบินสำรวจโดยศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอันดามันร่วมกับนักบินอาสาสมัคร Eduardo และ Tom Potisit พบว่าพะยูนส่วนใหญ่จะหากินอยู่ในรัศมี 6 กิโลเมตร จากแนวแหล่งหญ้าทะเล ในพื้นที่ดังกล่าว จึงควรช่วยกันดูแลและป้องกัน

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ผิดปกติ! พะยูนตายทะเลตรัง "ถูกถอดเขี้ยว" ทช.สั่งเฝ้าระวัง 

นายกฯ ป้อนนมลูกพะยูน "ยามีล" ระหว่างตรวจราชการที่ภูเก็ต 

สัตวแพทย์ห่วงลูกพะยูน "มาเรียม" ดูดครีบจนเป็นแผล 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง