เมื่อวันที่ 28 มิถุนายนที่ผ่านมา องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐ หรือ นาซาได้เปิดเผยแผนการส่งยานสำรวจไปยังดวงจันทร์ไททัน ดวงจันทร์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของดาวเสาร์ เพื่อค้นหาสิ่งมีชีวิต ศึกษาชั้นบรรยากาศและพื้นผิวดวงจันทร์ไททัน โดยใช้ยานสำรวจ Dragonfly ที่สามารถบินสำรวจ ถือเป็นภารกิจสำรวจดวงจันทร์ไททันครั้งแรกในรอบ 13 ปี นับจากนาซาเคยส่งยานสำรวจ Huygens ลงจอดบนดวงจันทร์ดวงนี้
ยานสำรวจ Dragonfly เป็นผลงานการพัฒนาของห้องปฏิบัติการ Johns Hopkins APL ตัวยานสำรวจถูกออกแบบให้มีลักษณะคล้ายโดรนบิน (Drone) ติดตั้งใบพัดทั้งหมด 4 คู่ ทำให้ยานสามารถบินไปยังพื้นที่สำรวจต่าง ๆ ได้มากกว่ายานสำรวจที่ใช้ล้อในการเคลื่อนที่ เนื่องจากบนพื้นผิวดวงจันทร์ไททันมีปริมาณแสงจากดวงอาทิตย์น้อย นาซาจึงเลือกพัฒนาระบบพลังงานของยานสำรวจ Dragonfly เป็นแบบพลังงานนิวเคลียร์ที่เรียกว่า Multi-Mission Radioisotope Thermoelectric Generator (MMRTG) แบบเดียวกับที่ใช้ในหุ่นยนต์สำรวจ Curiosity Rover ที่กำลังทำภารกิจสำรวจดาวอังคาร
นาซาได้เลือกพื้นที่สำหรับนำยาน Dragonfly ลงจอดเป็นบริเวณที่ชื่อว่า “Shangri-La” ใกล้บริเวณที่ยาน Huygens เคยลงจอดมาแล้วเมื่อประมาณ 13 ปีก่อน เนื่องจากเฮลิคอปเตอร์ Dragonfly ใช้พลังงานนิวเคลียร์ทำให้สามารถทำภารกิจบินสำรวจบนผิวดวงจันทร์ไททันได้นานกว่า 2 ปี 7 เดือน โดยมีระยะทางรวมกันกว่า 175 กิโลเมตร ซึ่งเป็นระยะทางการสำรวจบนผิวดาวที่ไกลกว่ายานสำรวจที่นาซาส่งไปสำรวจดาวอังคาร
ดวงจันทร์ไททันได้รับความสนใจจากนาซา เนื่องจากเป็นดวงจันทร์ที่มีขนาดใหญ่และเป็นดวงจันทร์ดวงเดียวในระบบสุริยะที่มีชั้นบรรยากาศ จากการสำรวจของยานกัสซีนี-เฮยเคินส์ (Cassini–Huygens) ในปี 2005 พบว่าชั้นบรรยากาศของดวงจันทร์ไททันประกอบด้วยไนโตรเจน มีเทน และคาดว่าบนผิวดาวจะมีทะเลสาบไฮโดรคาร์บอนขนาดใหญ่ในสภาพของเหลวอุณหภูมิ -179 องศาเซลเซียส นอกจากนี้ยังค้นพบร่องรอยการไหลที่เกิดจากของเหลวบนผิวดวงจันทร์ไททัน
ยานสำรวจ Dragonfly มีกำหนดการเดินทางจากโลกในปี 2026 และเดินทางถึงดวงจันทร์ไททันในปี 2034 เพื่อทำภารกิจสำรวจพื้นผิวดวงจันทร์ไททันศึกษา ค้นหาองค์ประกอบทางเคมีและกระบวนการผลิตสารที่เกี่ยวข้องทางชีวภาพที่เกิดจากสิ่งมีชีวิตบนดวงจันทร์ไททัน การศึกษาแผ่นดินไหวและกิจกรรมทางธรณีวิทยา รวมไปถึงตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงของบรรยากาศบนดวงจันทร์ไททัน