ผมยืนยัน 100 เปอร์เซนต์ต่อหน้าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ว่าเราไม่ได้เป็นต้นเหตุที่ทำให้น้ำแล้ง เราไม่ได้กักน้ำเลย น้ำมาเท่าไหร่เราปล่อยผ่านเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเท่านั้น น้ำเข้าเท่ากับน้ำออกตลอดเวลา สิ่งที่เกิดขึ้นมาจากปรากฏการณ์แล้ง และแล้งมากจริง ๆ สุดท้ายขอยืนยัน ให้เป็นเพียงปีที่ฝนมาล่าช้าเท่านั้น ขอให้เดือน ส.ค.ฝนมา และได้กราบไหว้สิ่งศักดิ์ประจำโครงการแล้วให้ช่วยดลบันดาลให้ฝนมา น้ำมาเพื่อที่จะจะได้ใช้น้ำในการทดสอบระบบด้วย
นายธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บ.ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด ยืนยันพร้อมสาบานว่า เขื่อนไซยะบุรีไม่ใช่ต้นตอของสถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขงที่มีปริมาณน้อยกว่าปกติ พร้อมระบุว่า สาเหตุเกิดจากฝนทิ้งช่วงและการปล่อยน้ำจากจีน นอกจากส่งผลให้เกิดภัยแล้งกระทบประชาชนที่อยู่ท้ายน้ำแล้ว โรงไฟฟ้าก็ได้รับผลกระทบเนื่องจากปริมาณน้ำไม่เพียงพอทดลองเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าโดยปริมาณน้ำขณะนี้ต่ำสุดในรอบ 50 ปี จากปกติปลายเดือน ก.ค.ปริมาณน้ำจะอยู่ที่ 3,000 - 4,000 ลบ.ม.ต่อวินาที แต่ขณะนี้อยู่ที่ 1,600 - 1,700 ลบ.ม.ต่อวินาทีทำให้โรงไฟฟ้าไม่สามารถทดสอบระบบได้ขณะนี้ทดลองได้เพียง 2 - 3 เครื่องเท่านั้น
นายธนวัฒน์ ยังยืนยันว่า การกักน้ำหน้าเขื่อนไว้ 2.75 เมตร ดำเนินการมาตั้งแต่เดือน ต.ค.ปีที่ผ่านมา จึงไม่ใช่ตัวการที่ทำให้น้ำท้ายเขื่อนแห้ง เพราะหากปล่อยน้ำออกไปจะใช้เวลาไม่นานน้ำท้ายเขื่อนจะลดลงเร็วและไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาน้ำแล้งได้จริง และอาจยิ่งส่งผลต่อประชาชนที่อยู่เหนือเขื่อนรวมถึงการทำลายตลิ่ง จึงต้องยึดหลักการบริหารจัดการน้ำเข้าและออกจากเขื่อนในปริมาณที่เท่ากัน
ทางบริษัทได้ประเมินปริมาณน้ำในเขื่อนจะเพิ่มขึ้นในช่วงเดือน ส.ค.จากฝนตกตามฤดูกาลและการปล่อยน้ำมาจากจีนมากขึ้นจะทำให้เขื่อนไชยะบุรีสามารถเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าได้เต็มกำลังทั้ง 7 เครื่อง ก่อนจะเริ่มผลิตและขายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในเดือน ต.ค.ปีนี้ ตามสัญญาการขายไฟฟ้าที่ตกลงกันที่สูงสุด 1,250 เมกะวัตต์
ดังนั้นเมื่อพิจารณาปัจจัยใดที่ทำให้น้ำในแม่น้ำโขงหายไป ข้อมูลฝนจากสถานีวัดน้ำ 3 แห่ง ในช่วง 1 - 20 ก.ค. ที่ผ่านมา พบว่า ปริมาณค่าเฉลี่ยฝนลดลงอย่างมากในสถานีเชียงแสนร้อยละ 96 หลวงพระบาง ร้อยละ 76 และหนองคาย ร้อยละ 80 ซึ่งน้ำที่หายไปมีผลต่อแม่น้ำโขง เพราะนี่คือน้ำต้นทุนอีกทางของแม่น้ำโขง ที่ไหลมาจากลำน้ำสาขาของหลายประเทศ จากจีนร้อยละ 15 จากลาวร้อยละ 40 ผ่าน 14 สายลำน้ำในลาว ขณะที่อยู่ที่ไทยราวร้อยละ 15
ต้นน้ำในจีนมีเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำนับ 10 แห่ง หลังจากเดินเครื่องเขื่อนม่านวาน เมื่อปี 2536 ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงเปลี่ยนไป และเขื่อนท้ายสุด มีอ่างเก็บน้ำคือเขื่อนจิ่นหง เมื่อต้นเดือน ก.ค.ปล่อยน้ำเพียง 500 ล้าน ลบ.ม. จาก 1,200 ล้าน ลบ.ม.พูดได้ว่าน้ำจากต้นน้ำหายไปกว่าครึ่ง ส่วนต้นน้ำโขงตอนล่าง มีเขื่อนไซยะบุรี ในลาว ซึ่งสร้างขวางแม่น้ำโขง เขื่อนไซยะบุรีเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำ แบบฝายน้ำล้น ขนาด 1,285 เมกะวัตต์ มีกังหันน้ำผลิตไฟฟ้า 8 เครื่อง แม้จะระบุว่า น้ำที่เข้าไปในโครงการจะออกมาเท่าเดิมไม่มีการกักเก็บหรือเบี่ยงทางน้ำ
แต่นายทรงฤทธิ์ โพนเงิน ผู้เชี่ยวชาญอาเซียน ตั้งคำถามว่า ถ้าไม่เก็บน้ำเหตุใดจึงสามารถยกระดับน้ำให้ต่างกันถึง 30 ม.ไว้ได้ จากนี้ไปจีนมีแผนจะสร้างเขื่อนในอีกหลายจุด อย่างน้อยสำหรับที่มีผลต่อแม่น้ำโขงตอนล่างก็มีจำนวนกว่า 10 เขื่อน ยังไม่นับรวมนโยบายแบตเตอรี่อาเซียนที่ลาวจะเดินหน้าสร้างเขื่อนเก็บน้ำ 53 แห่ง เพื่อผลิตไฟฟ้าขาย ดังนั้นจึงจะมีจำนวน 63 เขื่อนที่อยู่เหนือแม่น้ำโขงตอนล่าง ซึ่งต่างฝ่ายต่างอ้างสิทธิ์ในการไม่เปิดเผยข้อมูล ซึ่งเป็นคำถามว่าจากนี้ไปน้ำในแม่น้ำโขงจะหายไปอีกเท่าไหร่ และไทย กัมพูชา เวียดนาม ควรจะอยู่เฉย หรือ เรียกร้องผ่าน กลไกที่มี อย่าง คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission – MRC) ที่ตั้งขึ้นมาดูแลการจัดการน้ำโขงโดยตรง เพื่อให้จีนเข้ามาอยู่ในคณะกรรมการและรับผิดชอบกับคนท้ายน้ำ
แม่น้ำโขงมีความสำคัญระดับโลกเป็นเส้นทางเดินเรือสินค้า หล่อเลี้ยงภาคการเกษตร ประมง เกื้อหนุนการท่องเที่ยว เลี้ยงดูคนกว่า 250 ล้านคน การมองประโยชน์ที่แตกต่างกันทำให้เวลานี้แม่น้ำโขงกำลังเดือดร้อน ความน่ากลัวของเรื่องดังกล่าวอาจไม่ต่างจากปัญหาฝุ่นควัน ที่เมื่อถึงเดือน ส.ค.ซึ่งมีฝนตกมากขึ้นระดับน้ำก็จะสูงขึ้นก็อาจจะถูกหลงลืมไป ทำให้ไม่ได้แก้ไขปัญหา และก็จะกลับมาพูดคุยกันอีกครั้งเมื่อปัญหาเกิด