ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

วันแรก “ชวน” เปิดประชุมแถลงนโยบายรัฐบาล

การเมือง
25 ก.ค. 62
09:57
1,992
Logo Thai PBS
วันแรก “ชวน” เปิดประชุมแถลงนโยบายรัฐบาล
การอภิปรายนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาเริ่มแล้ว เบื้องต้นมีความเป็นไปได้ว่าการอภิปรายที่กำหนดไว้ 2 วันคือ 25-26 ก.ค.นี้ อาจต้องยืดเยื้อไปถึงวันที่ 27 ก.ค. ขณะที่นายกรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายหลักและนโนบายเร่งด่วนต่อที่ประชุมรัฐสภา

วันนี้ (25 ก.ค.2562) เวลา 09.30 น. ที่หอประชุม บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นห้องประชุมรัฐสภาชั่วคราว มีการประชุมรัฐสภาเพื่อแถลงนโยบายรัฐบาล โดยมีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม ซึ่งรัฐบาลจะแถลงนโยบายเร่งด่วน 12 เรื่องและเป็นที่ตั้งข้อสังเกตว่าจะมีรัฐมนตรี 14 คนที่จะถูกอภิปรายกรณีคุณสมบัติและการทำงานที่ผ่านมา ซึ่งตามข้อตกลงร่วมกันของวิป 3 ฝ่าย กำหนดรอบเวลาไว้เบื้องต้น 2 วันคือวันที่ 25-26 ก.ค.นี้ แต่อาจมีการขยายกรอบเวลาเพิ่มเติมออกไปในวันที่ 27 ก.ค.อีก 1 วัน เนื่องจากฝ่ายค้านชี้ว่าระยะเวลาที่ได้ 13 ชั่วโมงครึ่งอาจไม่เพียงพอ

นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ระบุว่า เรื่องกรอบเวลาเป็นการตกลงกันระหว่างทุกฝ่าย แต่ก่อนหน้านี้ฝ่ายรัฐบาลทักท้วงว่าเวลา 5 ชั่วโมงอาจไม่เพียงพอ ส่วนฝ่ายค้านพอใจกับกรอบเวลาที่ได้ ซึ่งหากสุดท้ายระยะเวลาไม่พอก็สามารถขยายเวลาได้ถึงวันที่ 27 ก.ค.

 

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ได้เดินทางมาร่วมประชุมเพื่อแถลงนโยบายรัฐบาล ซึ่งผู้สื่อข่าวถาม พล.อ.ประยุทธ์ ว่าตื่นเต้นหรือไม่ เพราะถือเป็นครั้งแรกที่จะต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภา 

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวตอบสั้นๆ ว่า “อยู่มา 5 ปีแล้ว ไม่ตื่นเต้น”

สำหรับนโยบายที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะแถลงต่อที่ประชุมรัฐสภาในวันนี้มีรายละเอียดของนโบาย 2 ส่วนหลักๆ คือนโยบายหลัก 12 ด้านที่รัฐบาลจะต้องขับเคลื่อนในการบริหารราชการแผ่นดินตอลด 4 ปีนับจากนี้ไป และอีกส่วนหนึ่งคือนโยบายเร่งด่วน 12 เรื่อง ซึ่งหมายถึงนโยบายที่รัฐบาลนี้จะขับเคลื่อนเดินหน้าในช่วงปีแรก แต่ก็ถูกตั้งข้อสังเกตว่าส่วนใหญ่เป็นนโยบายของพรรคพลังประชารัฐ โดยเฉพาะนโยบายเร่งด่วน 12 เรื่อง ดังนี้

1. การแก้ไขปัญหาในการดำรงชีวิตของประชาชน ซึ่งอ้างมาตรฐานด้านต่างๆ ที่อดีตเคยประกาศจัดระเบียบ
2. การปรับปรุงระบบสวัสดิการและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยระบุชัดเจนว่าจะปรับปรุงระบบบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและเบี้ยยังชีพ
3. มาตรการเศรษฐกิจเพื่อรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจโลก
4. การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและพัฒนานวัตกรรม
5. การยกระดับศักยภาพของแรงงาน
6. การวางรากฐานระบบเศรษฐกิจของประเทศสู่อนาคต ซึ่งเขียนชัดถึงการดึงดูดการลงทุนของภาคเอกชนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เขตเศรษฐกิจพิเศษ และเมืองอัจฉริยะ
7. การเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 เน้นที่จะสร้างแพลตฟอร์มการเรียนรู้ใหม่ในระบบดิจิทัล ส่งเสริมการเรียนภาษาคอมพิวเตอร์ และส่งเสริมหลักสูตรออนไลน์
8. การแก้ไขปัญหาทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ ทั้งฝ่ายการเมืองและฝ่ายราชการประจำ
9. การแก้ไขปัญหายาเสพติดและสร้างความสงบสุขในพื้นที่ชายแดนภาคใต้
10. การพัฒนาระบบการให้บริการประชาชน โดยมุ่งสู่ความเป็นรัฐบาลดิจิทับ พัฒนาการจัดเก็บและเปิดเผยข้อมูล ให้ความสำคัญกับระบบดิจิทัลทั้งบุคคลและนิติบุคคล และ
11. การจัดเตรียมมาตรการรองรับภัยแล้งและอุทกภัย
12. การสนับสนุนให้มีการศึกษา การรับฟังความเห็นของประชาชนและการดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะในส่วนที่ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง