วันนี้ (26 ก.ค.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากกลุ่มชาวบ้านรอบเหมืองแร่ทองคำ และตัวแทนกลุ่มประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ 5 จังหวัด ได้แก่ จ.พิจิตร เพชรบูรณ์ พิษณุโลก สระบุรี และลพบุรี นำโดยนางวันเพ็ญ พรมรังสรรค์ นางสาวอารมณ์ คำจริง เดินทางมาที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เมื่อวานนี้ โดยเข้าพบกับกรรมการ ป.ป.ช. นำโดยนางสุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะประธานคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงสำนวนเหมืองแร่ทองคำ จ.พิจิตร เป็นเวลานานกว่า 2 ชั่วโมง นับเป็นครั้งแรกที่พบกันในรอบ 4 ปี
นางวันเพ็ญ พรมรังสรรค์ แกนนำระบุว่าหลังจากเข้าพบกรรมการ ป.ป.ช.แล้ว ชาวบ้านและ ภาคประชาสังคม รู้สึกสิ้นหวัง เพราะการยื่นร้องเรียนไว้หลากหลายประเด็นตั้งแต่ปี 2557 รวมเกือบ 20 เรื่อง กลับไม่ได้รับคำตอบที่กระจ่างในความคืบหน้าของสำนวนการไต่สวนที่ ป.ป.ช. รับผิดชอบ ซึ่งผ่านมาแล้ว 4 ปี เมื่อวานได้สอบถามประเด็นข้อร้องเรียนทั้งที่เกี่ยวกับการประกอบกิจการของ บ.อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีรวมถึง 19 ประเด็น รวมถึงประเด็นที่ตลาดหลักทรัพย์ออสเตรเลีย ส่งข้อมูลสินบนข้ามชาติให้ตลาดหลักทรัพย์ไทย และตลาดหลักทรัพย์ส่งข้อมูลพร้อมหลักฐานให้ ป.ป.ช.ไทย ดำเนินการตรวจสอบ แต่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ เมื่อสอบถามคุณสุภาบอกว่า มีความคืบหน้าแต่เปิดเผยไม่ได้
ผ่านไปแล้ว 4 ปี บางประเด็นถ้าได้คำตอบ-ผลสอบ ออกมาช้า ก็จะไม่มีผลอะไร เพราะบางเรื่องคดีใกล้หมดอายุความแล้ว ครั้งนี้คุณสุภาเป็นผู้โทรมานัดให้ดิฉันมาพบ เราคาดหวังการชี้แจงความคืบหน้า
นางวันเพ็ญ ระบุว่าก่อนหน้านี้เมื่อราว ๆ 2 ปีก่อน ป.ป.ช. ได้เปลี่ยนแปลงเจ้าหน้าที่ชุดเดิมที่เคยทำสำนวนเหมืองแร่ทองคำ และสำนวนช่วงนั้นรับทราบว่า มีความคืบหน้าไปมาก แต่อยู่ๆ มีการโยกย้ยเจ้าหน้าที่ที่เคยรับผิดชอบ และเปลี่ยนแปลงเจ้าหน้าที่ชุดใหม่ เริ่มต้นกันใหม่อีกครั้ง โดยเจ้าหน้าที่ที่ลงไปสอบถามชาวบ้านในพื้นที่ กลับไม่ได้สอบในประเด็นที่อยู่ในสำนวนที่ร้องเรียน แต่ไปสอบถามด้วยคำพูดที่ทำให้ชาวบ้านรู้สึกไม่สบายใจว่า ไปร้องเรียน ป.ป.ช. รับเงินใครมาหรือใครจ้างให้ไปร้องเรียน ทำให้ชาวบ้านทนไม่ไหว จนต้องเข้าแจ้งความกับตำรวจไว้เป็นหลักฐาน
นอกจากนี้ ยังเห็นว่าการที่ ป.ป.ช. ไม่เร่งสอบสวนท่ามกลางสถานการณ์ที่รัฐบาลไทย กำลังมีเรื่องพิพาทกับบริษัทเหมืองแร่ทองคำ ซึ่งขณะนี้อยู่ในการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการ ทำให้ประเมินว่า รัฐบาลไทยอาจมีความเสี่ยงในการเสียค่าโง่เหมืองทอง เพราะ ป.ป.ช. ในฐานะหน่วยตรวจสอบ ไม่ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ ซึ่งถ้าการตรวจสอบของ ป.ป.ช.ที่ผ่านมาทำเต็มที่ จะมีข้อมูลมากพอที่ทำให้รัฐบาลนำไปต่อสู้คดีได้เพราะหลักฐานหลายเรื่องที่ภาคประชาชนส่งให้ ป.ป.ช. และบางเรื่องมีคำพิพากษาของศาลในพื้นที่เกี่ยวข้องมาแล้ว ได้ชี้ชัดถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้น รวมถึงคดีสินบนข้ามชาติที่มีทั้งนักการเมืองและข้าราชการเกี่ยวข้อง เรื่องราวเหล่านี้ถ้า ป.ป.ช.สรุปสำนวนได้ ประเทศไทยจะไม่เสียค่าโง่เลย หลังจากนี้จะกลับไปหารือกันว่า จะดำเนินการอย่างไรกันต่อ
นางสาวอารมณ์ คำจริง แกนนำชาวบ้าน กล่าวว่าประเด็นที่ผ่านมาและค่อนข้างพบความผิดปกติชัดเจนคือ การย้ายบ่อกักเก็บกากแร่และการทำเหมืองแร่รุกล้ำถนนทางหลวง แต่กลายเป็นการพบกันครั้งนี้ เหมือนเริ่มต้นกันใหม่ รู้สึกผิดหวังมากๆ แล้วเอกสารที่เคยส่งมาให้ ที่ชาวบ้านต้องเดินทางไกลจากจังหวัดต่างๆ เข้ามายื่นหนังสือที่ ป.ป.ช.ที่สนามบินน้ำ (นนทบุรี) ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ถามว่าทำไมจึงเกิดเหตุการณ์แบบนี้
เราบอกเลยว่าเราไม่เชื่อมั่น ป.ป.ช. ซึ่งแตกต่างจากการก่อนเข้าพบเรายังหวังอยู่ แต่หลังจากนี้เราจะดิ้นรนช่วยเหลือตัวเราเอง หาวิธีช่วยเหลือประเทศชาติเอง โดยอาจจะเสนอรัฐบาลเพื่อขอให้ตั้งคณะทำงานมาพิจารณา 1 ชุด ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าทำได้หรือไม่
นางสาวสุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะประธานคณะกรรมการไต่สวนสำนวนเหมืองแร่ทองคำ ปฏิเสธให้สัมภาษณ์กับไทยพีบีเอส กล่าวสั้นๆ ว่า "เรียกชาวบ้านมาถามเฉยๆ ไม่มีอะไร" เมื่อขอสัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการสอบสวน 4 ปีที่ผ่านมา นางสาวสุภา กล่าวว่า "ไม่ต้องสัมภาษณ์หรอกนะ กำลังไต่สวนกันอยู่" จากนั้นได้เดินเข้าไปที่ภายในอาคาร ซึ่งสื่อมวลชนและคนนอกไม่สามารถเข้าไปได้
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับข้อร้องเรียนที่กลุ่มชาวบ้านและภาคประชาสังคมปฏิรูปทองคำ เคยยื่นให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบเป็นทางการ มี 19 ประเด็น เคยยื่นไว้เมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว และยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของ ปปช. ทุกวันนี้ ได้แก่
1.ประเด็นอดีตรัฐมนตรีคนหนึ่ง มีส่วนได้ส่วนเสียหรือไม่กับบริษัท สวนสักพัฒนา จำกัด ที่มีบริษัท อัครา รีซอร์สเซส เป็นผู้ถือหุ้น โดยบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด จำกัด เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท อัคราฯ
2.ประเด็นการอนุมัติให้ทำเหมืองในทางสาธารณะโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ที่อาจเกี่ยวข้องกับการซื้อที่ดินของญาตินายก อบต. และคดีสินบนข้ามชาติหรือไม่อย่างไร
3.การเปลี่ยนแปลงผังโครงการเพื่อย้ายบ่อเก็บกากแร่ไปใกล้กับชุมชนโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และอาจเกี่ยวข้องกับคดีสินบนข้ามชาติหรือไม่อย่างไร
4.การขยายโรงงานประกอบโลหะกรรม โดยมิชอบด้วยกฎหมายและอาจเกี่ยวข้องกับคดีสินบนข้ามชาติหรือไม่อย่างไร
5.ประเด็นการจ่ายเงินเพื่อการอนุมัติประทานบัตรในปี 2551 หรือไม่
6.การทำเหมืองนอกเขตประทานบัตรโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
7.การออกโฉนดในการแปลงทรัยพย์สินเป็นทุนให้บริษัท สวนสักพัฒนา จำกัด และชื่อบุคคลอื่นถือครองแทน บริษัท สวนสักพัฒนา โดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือไม่อย่างไร
8.การยกเลิกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) โดยมิชอบด้วยกฎหมายที่ จ.ลพบุรี
9.ประเด็นยกเลิกโฉนดที่ดินโดยมิชอบด้วยกฎหมายของชาวบ้าน ต.คลองทราย อ.สากเหล็ก จ.พิจิตร
10.การไม่ออกเอกสารสิทธิ์ให้ประชาชนที่ อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก โดยอ้างว่า ไม่ใช่พื้นที่ป่าสงวนหวงห้าม
11.ประเด็นกรมควบคุมมลพิษเตือนห้ามใช้น้ำหนองระมาน บ่อน้ำดื่ม และน้ำใต้ดินในบริเวณหนองระมาน
12.ประเด็นน้ำผุดกลางนาข้าว บริเวณข้างบ่อเก็บกากแร่ ที่มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ตรวจพบสารไซยาไนต์ ที่มีอัตตลักษณ์คล้ายกับไซยาไนท์ในบ่อเก็บกากแร่ที่ 1 ที่ใช้เพียงดินเหนียวรองก้นบ่อเท่านั้น
13.การปล่อยน้ำในบ่อเก็บกากแร่ที่ 1 ออกมานอกบ่อทางด้านทิศใต้ของบ่อ โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
14.ผลตรวจของกรรมการ 5 ฝ่าย สถานบันนิติวิทยาศาสตร์ และมหาวิทยาลัยรังสิต ที่ตรวจพบว่ามีการปนเปื้อนของสารโลหะหนักในสิ่งแวดล้อมและร่างกายคน
15.ประเด็นการเจ็บป่วยล้มตายของชาวบ้านรอบเหมืองทอง
16.การขุดสินแร่ที่มีสารหนูและสารโลหะหนัก และใช้สารไซยาไนต์เข้าใช้ในการผลิต อาจเป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยของประชาชนรอบเหมืองหรือไม่อย่างไร
17.การเพิกถอนพื้นที่ปฏิรูปที่ดินใน อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่บริษัทฟ้าร้อง จำกัด บริษัทย่อยของบริษัท คิงส์เกต ได้ยื่นอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำไว้ โดยแอบอ้างคำสั่งทวงคืนผืนป่าของ คสช.
18.การใช้อำนาจหน้าที่ของ นายก อบต. รื้อป้ายคัดค้านการสำรวจเพื่อทำเหมืองแร่ใน อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี โดยมิชอบด้วยกฎหมาย
19.การห้ามประชาชนคัดค้านการทำเหมืองแร่โดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือไม่