ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"คุณหญิงกัลยา" เสนอใช้ E-book แก้ปัญหา นร.สะพายกระเป๋าหนัก

สังคม
30 ก.ค. 62
18:48
745
Logo Thai PBS
"คุณหญิงกัลยา" เสนอใช้ E-book แก้ปัญหา นร.สะพายกระเป๋าหนัก
คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ ระบุไม่ได้นิ่งนอนใจกรณีเด็กนักเรียนใน จ.ขอนแก่น กระดูกสันหลังคดและผู้ปกครองเชื่อว่าเกิดจากการสะพายกระเป๋าหนัก โดยมีแนวคิดใช้อิเล็กทรอนิกส์บุ๊ก (E-book) เพื่อไม่ให้เด็กแบกหนังสือไปโรงเรียน

วันนี้ (30 ก.ค.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีเด็กนักเรียนชั้น ม.3 ใน จ.ขอนแก่น มีอาการกระดูกสันหลังคดและผู้ปกครองเชื่อว่าเกิดจากการสะพายกระเป๋านักเรียนที่มีน้ำหนักมากเกินไป ล่าสุด คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้กล่าวถึงมาตรการแก้ปัญหาดังกล่าวว่า แม้จะยังไม่สามารถระบุสาเหตุได้ชัดเจนว่าเด็กนักเรียนกระดูกสันหลังคดเพราะสะพายกระเป๋าหนักเกินไปหรือไม่ แต่ก็คิดว่ามีส่วน ขณะนี้มีแนวคิดจะเปลี่ยนวิธีไปใช้อิเล็กทรอนิกส์บุ๊กมากขึ้น เพื่อไม่ให้เด็กต้องแบกหนังสือไปโรงเรียน ซึ่งถือเป็นทางออกของปัญหาโดยตรง และกระทรวงศึกษาธิการไม่ได้นิ่งนอนใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบกับสุขภาพของเด็ก

เรื่องเกี่ยวกับสุขภาพของเด็กให้ความสนใจอยู่แล้ว เมื่อเกิดเหตุการณ์ เราก็ไม่นิ่งนอนใจ

 

ขณะที่ผู้ปกครองหลายคนส่งภาพถ่ายนักเรียนที่ป่วยด้วยโรคกระดูกสันหลังคดผ่านเฟซบุ๊ก เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและให้คำปรึกษากับนางสุภาพ ดีบุญมี ณ ชุมแพ ชาว จ.ขอนแก่น ที่โพสต์ภาพเอกซเรย์ของบุตรสาว อายุ 14 ปี ซึ่งระบุว่ากระดูกสันหลังคดเพราะสะพายกระเป๋านักเรียนหนัก พร้อมกล่าวว่าผู้ปกครองที่ส่งข้อมูลมาให้เล่าว่า ลูกป่วยเป็นโรคกระดูกสันหลังคด เกิดจากพฤติกรรมการสะพายกระเป๋านักเรียนหนัก โดยเฉพาะการสะพายโดยใช้ไหล่ข้างเดียวรับน้ำหนักเป็นเวลานาน และบางคนเริ่มสะพายกระเป๋านักเรียนหนักตั้งแต่อายุ 9 ขวบ ก่อนจะมีอาการไหล่เอียงและกระดูกสันหลังคดจนต้องผ่าตัด

ซึ่งวันนี้ทางโรงเรียนนัดให้นางสุภาพพบกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูก ซึ่งแพทย์นัดตรวจร่างกายอย่างละเอียดในวันที่ 1 ส.ค.นี้ แต่เบื้องต้นพบว่าอาการไม่รุนแรงถึงขั้นต้องผ่าตัด ส่วนสาเหตุยังไม่สามารถชี้ชัดว่าเกิดจากการสะพายกระเป๋านักเรียนหนักหรือไม่

สั่งดูแลกระเป๋า นร.ไม่เกิน 15% ของน้ำหนักตัว

นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ระบุว่า วันนี้ได้ออกหนังสือเวียนกำชับเรื่องน้ำหนักของกระเป๋านักเรียนไปยังทุกเขตพื้นที่การศึกษา ทั้งมัธยมศึกษาและประถมศึกษา ซึ่งน้ำหนักของกระเป๋านักเรียนตามมาตรฐานทั่วโลก อยู่ที่ร้อยละ 10-20 ของน้ำหนักตัวเด็ก เช่น หากน้ำหนักตัว 20 กิโลกรัม กระเป๋าที่สะพายต้องน้ำหนักไม่เกิน 2-4 กิโลกรัม แต่ค่าเฉลี่ยของประเทศไทยอยู่ที่ร้อยละ 15 ของน้ำหนักตัว ซึ่งมาตรการนี้ใช้มากว่า 10 ปี ซึ่งนักเรียนชั้น ป.1-2 น้ำหนักของกระเป๋าไม่ควรเกิน 3 กิโลกรัม, ชั้น ป.3-4 น้ำหนักไม่เกิน 3.5 กิโลกรัม, ชั้น ป.5-6 ไม่เกิน 4 กิโลกรัม และชั้น ม.1-6 ไม่เกินร้อยละ 15 ของน้ำหนักตัวเด็ก

ขณะเดียวกันครูและผู้ปกครองต้องดูแลเรื่องการจัดตารางสอนให้เหมาะสม เพื่อให้เด็กลดภาระในการแบกกระเป๋าหนัก ส่วนโรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมอาจจะจัดทำเป็นล็อกเกอร์ หรือตู้เฉพาะ เพื่อจัดเก็บหนังสือเรียน

ส่วนข้อเสนอที่ให้ใช้ E-book นายสุเทพ ระบุว่า ต้องค่อยเป็นค่อยไป ปัจจุบันโรงเรียนส่วนใหญ่ยังจำเป็นต้องใช้หนังสือเพราะยังไม่มีความพร้อม ทั้งนี้จะให้กรมวิชาการศึกษาวิเคราะห์ข้อดีข้อเสียของการใช้ E-book ด้วย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง