วันนี้ (31 ก.ค.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายนพรุจ วรชิตวุฒิกุล นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท และ นพ.เหวง โตจิราการ อดีตแกนนำและแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช.เดินทางมาฟังคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีที่ถูกฟ้องว่าร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองโดยมีอาวุธ โดยเป็นหัวหน้าหรือผู้สั่งการ และเมื่อเจ้าหน้าที่สั่งให้เลิกชุมนุมแล้วไม่เลิก
คดีนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2550 แกนนำ นปช. และผู้ร่วมชุมนุมเดินทางจากเวทีปราศรัยที่บริเวณสนามหลวง เคลื่อนไปยังบ้านพักของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรี ที่แยกสี่เสาเทเวศร์ เพื่อเรียกร้องกดดันให้ พล.อ.เปรม ลาออกจากตำแหน่งฯ
ศาลชั้นต้นสั่งจำคุก 4 ปี 4 เดือน แกนนำ นปช.
ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา เมื่อเดือนกันยายน 2558 จำคุกนายนพรุจ 2 ปี 8 เดือน ฐานทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงาน ซึ่งกำลังปฏิบัติหน้าที่ฯ ส่วนนายวีระกานต์ นายณัฐวุฒิ นายวิภูแถลง และ นพ.เหวง จำคุกคนละ 4 ปี 4 เดือน ฐานมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย และเป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ส่วนจำเลยอีก 2 คน ที่เป็นแนวร่วมฯ ยกฟ้อง
ระหว่างนั้นมีตำรวจเข้ามาควบคุมสถานการณ์ แต่กลุ่มผู้ชุมนุมพยายามต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ ซึ่งนายนพรุจ วรชิตวุฒิกุล จำเลยที่ 1 ใช้ไม้เสาธงตีทำร้ายร่างกาย ร.ต.อ.ทวีศักดิ์ นามจันทร์เจียม ที่เข้ามาควบคุมสถานการณ์ ทำให้กระดูกข้อมือแตกได้รับบาดเจ็บสาหัส
ศาลอุทธรณ์แก้โทษเหลือจำคุก 2 ปี 8 เดือน
คดีนี้ศาลอุทธรณ์ แก้คำพิพากษาศาลชั้นต้น เห็นว่าจำเลยมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานขณะปฏิบัติหน้าที่ จำคุกคนละ 1 ปี และฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปฯ จำคุกคนละ 3 ปี จำเลยให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษให้เหลือจำคุกคนละ 2 ปี 8 เดือน ไม่รอลงอาญา แต่จำเลยยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างรอคำพิพากษาศาลฎีกา
"นพรุจ" นำหลักฐานใหม่ยื่นต่อสู้ในชั้นศาลฎีกา
ขณะที่นายนพรุจ จำเลยที่ 1 ที่ถูกศาลตัดสินจำคุกฐานทำร้ายเจ้าพนักงานฯ จนได้รับบาดเจ็บสาหัส นำหลักฐานใหม่ที่ยื่นต่อสู้ในชั้นศาลฎีกา คือใบรับรองแพทย์ในการรักษาอาการบาดเจ็บของ ร.ต.อ.ทวีศักดิ์ โดยแพทย์ระบุให้ ร.ต.อ.ทวีศักดิ์ พักรักษาตัวเพียง 3 วัน ในวันที่ 23-25 กรกฎาคม ซึ่งไม่เข้าข่ายบาดเจ็บสาหัส
และได้นำใบรับรองแพทย์พักรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลา 3 สัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม ถึง 22 สิงหาคม 2550 มายื่นศาล ซึ่งเป็นการรักษาก่อนเกิดเหตุการณ์นี้ ในวันที่ 22 กรกฎาคม พร้อมยืนยันว่าไม่ได้ก่อเหตุดังกล่าวจริง และวันนั้นโบกธงอยู่บนรถยนต์ แต่ถูกกลับลากลงมาทำร้ายร่างกาย ก่อนที่จะมีสื่อต่างชาติมาช่วยชีวิตไว้ ซึ่งระหว่างสืบพยานชั้นศาลฎีกา ได้ยื่นหลักฐานนี้ต่อศาลไปแล้ว
"นพ.เหวง-ณัฐวุฒิ" พร้อมน้อมรับคำพิพากษาของศาล
ด้าน นพ.เหวง โตจิราการ และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ จำเลยในคดีและแกนนำ นปช.ระบุว่า พร้อมน้อมรับคำพิพากษาของศาล และไม่ได้กังวลอะไร พร้อมยืนยันว่าในวันที่เกิดเหตุ เป็นการชุมนุมตามกฎหมาย โดยได้วันเกิดเหตุไม่ได้บุกเข้าไปในบ้านของ พล.อ.เปรม แต่เหตุการณ์บานปลาย จนทำให้เจ้าหน้าที่ใช้แก๊สน้ำตา ซึ่งวันนั้นได้เจรจากับรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาลแล้วว่าจะชุมนุมไม่เกินเที่ยงคืน ก่อนที่จะกลับไปที่เวทีสนามหลวง
สำหรับผลการตัดสิน จำเลยก็พร้อมน้อมรับคำตัดสินของศาล และไม่ได้กังวลอะไรเพราะก็เคยต้องโทษเข้าเรือนจำมาแล้ว พร้อมยืนยันจะไม่ยอมรับการปกครองในระบอบเผด็จการ
ทนาย "วีระกานต์" แถลงต่อศาลขอเลื่อนนัดออกไปก่อน
เมื่อถึงเวลานัดหมายพบว่านายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ จำเลยที่ 4 และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ จำเลยที่ 5 ยังไม่ได้รับหมายนัด ประกอบกับทนายความนายวีระกานต์ แถลงต่อศาลขอเลื่อนนัดออกไปก่อน เนื่องจากนายวีระกานต์ไม่สามารถเดินทางมาศาลได้ในวันนี้ มีอาการป่วย แพทย์ให้รักษาตัวตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม พร้อมยื่นใบรับรองแพทย์ ศาลจึงเห็นควรให้เลื่อยนัดออกไปเป็นวันที่ 23 กันยายนนี้ เวลา 09.00 น. ส่วนนายณัฐวุฒิ จำเลยที่ 5 ที่ไม่ได้รับหมายนัด แต่ได้เดินทางมาศาล ศาลจึงให้ลงชื่อรับทราบนัดดังกล่าว
ขณะที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ อดีตแกนนำ นปช.เปิดเผยว่า สำหรับคดีนี้ยังมีสำนวนต่อเนื่องที่จะต้องดำเนินคดีในชั้นศาลอีก โดยมีตัวเองเป็นหนึ่งในจำเลย ซึ่งก็ต้องรอคำพิพากษาในคดีนี้เสร็จสิ้นก่อน จึงจะเริ่มสืบพยานต่อ สำหรับบริเวณหน้าศาลอาญา มีกลุ่มแนวร่วม นปช.มาให้กำลังใจกับจำเลย บางส่วนเข้าไปร่วมรับฟังผลการพิจารณาคดี และมีกำลังตำรวจของ สน.พหลโยธิน 15 นายมาร่วมดูแลความปลอดภัย