วันนี้ (31 ก.ค.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 52 เปิดฉากอย่างเป็นทางการ ท่ามกลางการจับตามองเกี่ยวกับประเด็นร้อนในภูมิภาค ทั้งวิกฤตการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ ประเทศเมียนมา ปัญหาข้อพิพาทในทะเลจีนใต้และการเข้ามามีบทบาทของชาติมหาอำนาจทั้งจีนและสหรัฐอเมริกา
โดยที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน มีการออกแถลงการณ์ร่วม เพื่อแสดงเจตนารมณ์ของประเทศสมาชิกอาเซียนที่จะส่งเสริมให้ประชาคมอาเซียน เป็นประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังและมีความยั่งยืนในทุกมิติ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ยังมีการประกาศความสำเร็จเกี่ยวกับการพิจารณาร่างเนื้อหาการเจรจาจัดทำประมวลการปฏิบัติในทะเลจีนใต้ ฉบับแรก
น.ส.บุษฎี สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนหารือถึงสถานการณ์ในรัฐยะไข่ของเมียนมา รวมถึงสนับสนุนการคืนภูมิลำเนาของชาวโรฮิงญาที่อพยพไปบังกลาเทศ สืบเนื่องจากการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 34 เมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ทุกฝ่ายเห็นพ้องกันว่าจะต้องมีการวางแผนทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อยืนยันให้แน่ชัดว่ากระบวนการดังกล่าวจะเกิดขึ้นอย่างปลอดภัยและยั่งยืน
นอกจากนี้ อาเซียนและจีนยังมีความยินดีที่จะประกาศว่า การพิจารณาร่างเนื้อหาการเจรจาจัดทำประมวลการปฏิบัติในทะเลจีนใต้ ฉบับแรก สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญในการจัดทำประมวลการปฏิบัติในทะเลจีนใต้ หรือ Code of Conduct
ขณะที่ หวัง อี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน ระบุว่า การพิจารณาร่างเนื้อหาดังกล่าวสำเร็จเร็วกว่ากำหนด และประมวลการปฏิบัติในทะเลจีนใต้นับเป็นรากฐานสำคัญในการบรรลุข้อกำหนดในพื้นที่พิพาท ซึ่งความสำเร็จนี้สะท้อนให้เห็นว่าทุกประเทศที่เกี่ยวข้องล้วนมีความจริงใจในการเจรจา เพื่อยุติปัญหาความขัดแย้งด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน
นอกจากนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีนยังยืนยันที่จะให้ความสำคัญกับอาเซียนเป็นอันดับต้นต่อไป เพื่อให้สามารถทำงานสานต่อความร่วมมือและความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้น โดยจะเดินหน้าสนับสนุนการจัดตั้งเขตการค้าเสรี และผลักดันความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ rcep ให้บรรลุผลสำเร็จได้ภายในปี 2562
แม้ดูจะมีความคืบหน้าในการเจรจาแก้ปัญหาทะเลจีนใต้ แต่นักวิเคราะห์ต่างมองว่าการเจรจาในอีก 2 รอบต่อไป อาจจะยังไม่สดใสนัก เนื่องจากจีนยังคงยืนยันสิทธิ์ครอบครองพื้นที่ส่วนใหญ่ในทะเลจีนใต้อย่างเต็มที่ ขณะที่การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน เมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมาได้ยอมรับกรอบผูกพันอินโด-แปซิฟิค ที่สหรัฐอเมริกานำเสนอ เพื่อถ่วงดุลระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่ดำเนินยุทธศาสตร์ผ่าน Belt and Road Initiative ซึ่งอาจเพิ่มความซับซ้อนให้กับประเด็นนี้มากขึ้น แม้ว่าอาเซียนจะขึ้นแท่นเป็นภูมิภาคเป้าหมายที่จีนนำเงินเข้ามาลงทุนมากที่สุดเป็นอันดับ 2 มูลค่ากว่า 3.2 แสนล้านบาท เป็นครั้งแรกไปแล้วก็ตาม