ใครเผา? พรุควนเคร็ง

สิ่งแวดล้อม
1 ส.ค. 62
15:51
5,339
Logo Thai PBS
ใครเผา? พรุควนเคร็ง
กรมป่าไม้-กรมอุทยานฯ ระดมทีมเหยี่ยวไฟ เสือไฟกว่า 200 คน ลงพื้นที่ดับไฟป่าพรุควนเคร็ง จ.นครศรีธรรมราช หลังพบแค่ 7 เดือนเกิดไฟไหม้ 88 ครั้งป่าเสียหาย 4,968ไร่ ระบุต้นเหตุชัดเจนฝีมือคนเผาขยายพื้นที่การเกษตร หาปลาในป่าพรุ เล็งเอาผิดคนลักลอบเผาโทษสูงสุด

ปัญหาไฟไหม้พรุควนเคร็ง ถึง 88 ครั้งในเวลาแค่ 7 เดือน มีพื้นที่เสียหายรวม 4,968ไร่ มีการตั้งข้อสังเกตตรงกันว่าไม่ปกติ

ข้อมูลพบว่า ป่าพรุควนเคร็ง ตั้งอยู่ในพื้นที่โครงการพัฒนาลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดําริ มีเนื้อที่รวมกันประมาณ 165,825.50 ไร่ ประกอบด้วยเขตห้ามล่าสัตว์ป่า 2 แห่ง คือ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย และพื้นที่เตรียมการประกาศเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบ่อล้อ และป่าสงวนแห่งชาติ 4 ป่าคือ ป่าสงวนแห่งชาติป่าบ้านในลุ่ม-ป่าบ้านกุมแป ป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองค๊อง ป่าสงวนแห่งชาติป่าท่าช้างข้าม และป่าสงวนแห่งชาติป่าดอนทรายและป่ากลอง ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัดคือ สงขลา พัทลุง และนครศรีธรรมราช

วันนี้ (1 ส.ค.2562) ไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า ขณะนี้นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) สั่งการให้เพิ่มกำลังชุดปฏิบัติการพิเศษเหยี่ยวไฟ ของกรมป่าไม้ และชุดปฏิบัติการพิเศษเสือไฟ ของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กว่า 200 นายลงพื้นที่เพื่อควบคุมสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมงพร้อมทั้งตั้งศูนย์อำนวยการร่วมระดับจังหวัด ที่มีผู้ว่าฯนครศรีธรรมราช เป็นประธาน และจะเฝ้าระวังในพื้นที่จนกว่าจะคลี่คลาย

เผาพื้นที่เกษตรบุกรุกป่าพรุ-เผาป่าหาปลา

ภาพรวมตอนนี้อยู่ในสถานการณ์ที่ควบคุมได้ โดยกรมป่าไม้ ตีวงรอบนอกพื้นที่เขตกันชน ไม่ให้เกิดปัญหากับบ้านเรือนของชุมชนรอบพื้นที่ป่า ส่วนของกรมอุทยานฯ ควบคุมพื้นที่ชั้นใน แต่ต้องเฝ้าระวังเพราะการดับไฟในป่าพรุค่อนข้างดับยาก และพื้นที่ใต้ดินมองไม่เห็น ต้องควบคุมพื้นที่ไม่ให้ไฟลุกลามโดยต้องพยายามระบายน้ำเข้าพื้นที่

ต้นเหตุไฟไหม้ป่าพรุ ยังมาจากฝีมือคนที่เผาเตรียมฟื้นที่การเกษตร สวนปาล์มน้ำมัน ยางพารา ออกจากพื้นที่ตัวเองเพื่อบุกรุกขยายพื้นที่เข้ามาในเขตป่า นอกจากนี้ยังมาจากการตีผึ้ง แม้แต่หาปลา ที่ต้องเผาหญ้าออกไปให้จับปลาในพรุ 

นายอรรถพล กล่าวว่า ประกอบกับในช่วงเดือน พ.ค.-ก.ค.ทุกปีเป็นช่วงหน้าแล้งของทางภาคใต้ น้ำในพรุ เป็นช่วงที่น้อยแทบไม่มีน้ำในพรุ ซึ่งการสำรวจพื้นที่บางจุดพบว่ามีการทำคันกั้นน้ำไม่ให้น้ำไหลเข้าไปในป่าได้  ทั้งนี้กรมป่าไม้ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังคงมาตรการให้เอาผิดผู้ที่จุดไฟเผาป่า

โดยให้ประชาชนแจ้งเบาะแส และการลักลอบบุกรุกพื้นที่ โดยใช้หลักเกณฑ์เดียวกับผู้ที่เผาป่าในเขตภาคเหนือ ถือเป็นการกระทำผิดกฎหมายทางอาญา มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-20 ปี และมีโทษปรับตั้งแต่ 20,000-2,000,000 บาท หรือมีโทษทั้งจำทั้งปรับ และต้องชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่งอีกด้วย

7 เดือนป่าพรุไฟไหม้ 88 ครั้งพื้นที่  4,968 ไร่

ภาพรวมหากเทียบกับปัญหาไฟไหม้พรุควนเคร็ง ในปี 2555 ที่เคยมีไฟไหม้ป่าพรุ 129 ครั้ง พื้นที่ป่าเสียหาย 12,179 ไร่ แต่จากสถิติการเผาป่าพรุควนเคร็งเพียงช่วง 7 เดือนแรกของปี 2562 ที่กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.นครศรีธรรมราช รายงาน พบไฟป่า 88 ครั้ง พื้นที่ 4,968 ไร่

 

  • อ.ชะอวด สถานการณ์ไฟป่าสะสมถึงปัจจุบัน จำนวน 45 ครั้ง 2,260 ไร่
  • อ.เฉลิมพระเกียรติ สถานการณ์ไฟป่าสะสมถึงปัจจุบัน จำนวน 11 ครั้ง 445 ไร่
  • อ.เชียรใหญ่ สถานการณ์ไฟป่าสะสมถึงปัจจุบัน จำนวน 22 ครั้ง 1,694 ไร่
  • อ.หัวไทร สถานการณ์ไฟป่าสะสมถึงปัจจุบัน จำนวน 3 ครั้ง 406 ไร่
  • อ.ร่อนพิบูลย์ สถานการณ์ไฟป่าสะสมถึงปัจจุบัน จำนวน 7 ครั้ง 163 ไร่

 

ไฟไหม้ป่าพรุดับยาก 

นายอิศเรศ จิระรัตน์ หัวหน้าชุดปฎิบัติการดับไฟป่า (เหยี่ยวไฟ) กรมป่าไม้ กล่าวว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดไฟไหม้ในพื้นที่ป่าพรุควนเคร็งเกิดมาจากภาวะภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วง ซึ่งพื้นที่หัวไทร ชะอวด โดยพื้นที่โดยรอบป่าพรุควนเคร็งฝนไม่ตกมาเป็นเวลานานกว่า 2-3 สัปดาห์ ลักษณะคล้ายกับปี 2554 ที่มีภาวะภัยแล้ง และเกิดเหตุไฟไหม้ครั้งใหญ่เสียหายป่าพรุกว่า 20,000 ไร่ ซึ่งภาวะภัยแล้งทำให้ระดับน้ำในป่าพรุแห้งขอด น้ำส่วนหนึ่งไหลลงคลองที่ระบายสู่ทะเล ประกอบกับพื้นที่โดยรอบป่าพรุที่มีการปลูกพิชเศรษฐกิจ โดยเฉพาะปาล์มน้ำมัน ซึ่งเป็นพื้นที่ต้องการน้ำเยอะเมื่อชาวบ้านขุดคลองบริเวณโดยรอบป่าพรุจึงทำให้น้ำที่หล่อเลี้ยงพรุแห้งขอดลงเพราะน้ำถูกนำไปใช้ในสวนปาล์ม

ขณะที่สาเหตุของการเกิดไฟป่ามาจาก 4 สาเหตุ คือ 1.การจุดไฟเพื่อล่าสัตว์ หาของป่า เช่น การหาน้ำผึ้ง เนื่องจากน้ำผึ้งจากป่าเสม็ดเป็นที่ต้องการของชาวบ้านจึงทำให้นิยมเข้ามาหาน้ำผึ่งโดยมีอุปกรณ์จุดไฟที่เรียกว่า "หัวหมี" เมื่อชาวบ้านได้รังผึ้งบางส่วนก็จะทิ้งหัวหมีไว้ในพื้นที่ทำให้เกิดไฟไหม้

 

2.การหาปลา บริเวณป่าพรุจะมีคลองไส้ไก่ หรือแหล่งน้ำเมื่อน้ำแห้ง ชาวบ้านก็จะหาปลาและอาจมีการก่อไฟเพื่อประกอบอาหารและอื่น ๆ จนทำให้เกิดไฟไหม้ 3.การทำแนวกันไฟเพื่อป้องกันไฟไหม้เข้าสู่พื้นที่ตนเองแต่ทำให้ไฟได้ลุกไหม้ในพื้นที่ป่าพรุ และ 4.ความคึกคะนอง

99% ไฟไหม้ป่าพรุเกิดจากฝีมือมนุษย์ แต่ไฟไหม้ป่าพรุจะดับยากกว่าป่าในภาคเหนือเพราะไฟจะยังปะทุในพื้นที่ด้านล่าง แม้ว่าจะดับไปแล้วแต่ก็ยังมีโอกาสปะทุลุกติดไฟใหม่ได้ไม่เหมือนภาคเหนือที่เป็นไฟผิวดินดับไฟแยกเชื้อเพลิง ก็สามารถควบคุมได้ ซึ่งต้องเฝ้าระวังต่อเนื่องจนกว่าจะมีฝนมาช่วยในการบรรเทาหรือดับไฟ

ทั้งนี้ ด้วยลักษณะของป่าพรุที่มีต้นเสม็ด และใบไม้ที่ทับถมจนลึกจึงทำให้เมื่อเกิดไฟไหม้ที่ไหม้ทั้งบริเวณผิวดิน และพื้นที่ตรงกลางจึงยังคงมีเชื้อไฟที่พร้อมจะกลับมาปะทุได้ ซึ่งในปีที่ฝนตกตามปกติ มีน้ำหล่อเลี้ยงในป่าพรุ ก็จะไม่เกิดเหตุไฟไหม้ และหากพบภาวะเอลนิโญ หรือแล้งก็จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดไฟไหม้ได้

เล็งฟ้องทันทีหากไฟไหม้

นายอิศเรศ กล่าวว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่เสือไฟ เหยี่ยวไฟ และหน่วยงานต่างๆเข้ามาบูรณาการช่วยดับไฟในพื้นที่ทั้งป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ทหาร โดยเฝ้าระวังตั้งแต่วันที่ 29 ก.ค.- 1 ส.ค.โดยพื้นที่เกิดไฟไหม้กว่า 100 ไร่ ขณะนี้เจ้าหน้าที่ควบคุมพื้นที่โดยรอบไม่ให้ลุกลามเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ยังเตรียมมาตรการดำเนินคดีกับชาวบ้านหากเกิดไฟไหม้ในพื้นที่ป่าพรุ หรือใกล้เคียงกับชาวบ้าน เพราะส่วนหนึ่งไฟไหม้เกิดจากการทำแนวกันไฟและการขยายพื้นที่เกาตรของชาวบ้าน

ป่าพรุเป็นป่าที่ดับไฟได้ยาก เพราะลักษณะของป่าพรุที่มีต้นไม้คล้ายกันอาจหลงทาง และอาจมีหลุมซึ่งข้างใต้เป็นถ่าน หรือไฟที่ยังไม่ดับซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่ง การจะดับไฟจึงต้องดับในช่วงกลางวัน ขณะที่ในช่วงกลางคืนไม่สามารถปฏิบัติงานอาจเพราะมีความเสี่ยงสูงขณะที่การดับในช่วงกลางวันก็จะต้องเผชิญกับควันที่มากเพราะเชื้อเพลิงมีความชื้น ควันจะหนากว่าป่าที่แห้ง

 

สอดคล้องกับรายงานวิจัยของ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ระบุว่า จากสถิติการเกิดไฟไหม้ป่าพรุควนเคร็งตั้งแต่ปี พ.ศ.2549-2555 เกิดขึ้นมาจากบริเวณรอยต่อระหว่างพื้นที่เกษตรกรรมกับพื้นที่ป่าแล้วลุกลามเข้าป่าภายในพรุ ดังนั้นจึงควรให้ความสำคัญกับการเฝ้าระวังในบริเวณพื้นที่รอยต่อเหล่านี้อย่างเข้มข้น

ผลการศึกษาพบว่า ดินพรุในพื้นที่ป่าพรุควนเคร็ง มีความลึกโดยเฉลี่ย 0.78 เมตร ซึ่งความลึกสูงสุดของพรุที่วัดได้ 3.10 เมตร โดยปริมาณซากพืชและความสูงของไม้พื้นล่างเป็นปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความลึกของพรุ 

 

เชื้อเพลิงในป่าพรุประกอบด้วยเชื้อเพลิงส่วนที่อยู่เหนือพื้นดิน เศษซากพืช ไม้พื้นล่าง ใบเสม็ดสดและเปลือกที่ติดอยู่ตามต้น รวมทั้งเศษเปลือกเสม็ดที่ถูกลอกทิ้งไว้ในพื้นที่ โดยป่าเสม็ดที่ดอนมีปริมาณเชื้อเพลิงสูงสุด 3.72 ตันต่อไร่ ส่วนเชื้อเพลิงใต้ดินได้แก่ ดินพรุ มีความหนาแน่นโดยเฉลี่ย 0.23 กรัมต่อลบ.ซม.

ส่วนพฤติกรรมไฟพบว่าไฟที่เกิดในทุ่งหญ้า โดยเฉพาะกระจูด มีอัตราการลามเร็วมาก 4.01 เมตรต่อนาที ความสูงของเปลวไฟมากที่สุด 3.4 เมตรส่งผลให้ไฟมีความรุนแรงสูงสุด 639.32 กิโลวัตต์ต่อเมตร โดยบางแห่งมีความรุนแรงสูงถึง 1843.9 กิโลวัตต์ต่อเมตร สูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับไฟในสังคมพืชอื่นๆ ของไทย

นอกจากนี้แม้พื้นที่มีน้ำขัง แต่ไฟก็สามารถติด และลุกลามได้ อีกทั้งลูกไฟจากเปลือกต้นเสม็ด กระจูดที่ปลิวเป็นสิ่งที่ต้องระวังในระหว่างการเผา เพราะจะมีผลต่อการเกิดไฟลุกลามในพื้นที่อื่นๆ ที่ห่างออกไป

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปี 62 ไฟไหม้ป่าพรุควนเคร็ง 87 ครั้ง เสียพื้นที่ป่าเกือบ 5,000 ไร่

ระดมเจ้าหน้าที่ดับไฟไหม้ "พรุควนเคร็ง" รอบใหม่

ไฟไหม้ "พรุควนเคร็ง" เสียหายกว่า 1,200 ไร่

 



 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง