นกกระเรียนพันธุ์ไทย 10 ตัว โผบินสู่ธรรมชาติครั้งแรก หลังอยู่ในกรงเพาะพันธุ์ หน่วยพิทักษ์ป่าห้วยแสงเหนือ พื้นที่ชุ่มน้ำเขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำห้วยจรเข้มาก จ.บุรีรัมย์ มาเกือบ 1 ปี สร้างความตื่นเต้นให้กับประชาชนที่มารอชมไม่น้อย
เจ้าหน้าที่ปล่อยลูกนกที่โตเต็มวัย ทุกตัวมีสุขภาพแข็งแรง และจะถูกติดห่วงที่ขา เพื่อติดตามพฤติกรรม การหากินและการอาศัย ใช้เป็นข้อมูลในการศึกษาวิจัย เป็นประโยชน์ในการอนุรักษ์ต่อไป
วันที่ 5 ส.ค.62 นับเป็นปีที่ 9 กับความสำเร็จ ของโครงการเพาะพันธุ์นกกระเรียน โดยความร่วมมือขององค์การสวนสัตว์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงชุมชนในพื้นที่ในการอนุรักษ์มาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันพบมีลูกนกกระเรียนพันธุ์ไทย เกิดในธรรมชาติมากกว่า 10 ตัว หลังเคยสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติกว่า 50 ปี
นกกระเรียนพันธุ์ไทย (Eastern Sarus Crane) เป็น 1 ใน 15 ชนิด สัตว์ป่าสงวนของประเทศไทย ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ถือว่าเป็นนกที่มีสถานภาพสูญพันธุ์จากธรรม ชาติประเทศไทยไปแล้ว โดยพบนกกระเรียนในธรรมชาติครั้งสุดท้ายในปี 2511 บริเวณชายแดนติดกับกัมพูชา
ด้วยเหตุนี้ทำให้เกิดโครงการทดลองเพาะเลี้ยงนกในกรงเลี้ยงและเริ่มทดลองปล่อยสู่ธรรมชาติในพื้นที่ชุมน้ำเขตห้ามล่าสัตว์ป่าห้วยจรเข้มาก จ.บุรีรัมย์ ตั้งแต่ปี 2554-2560 มีการปล่อยนกคืนสู่ธรรมชาติ แล้วรวม 105 ตัว และมีนกรอดชีวิต 71 ตัว
9 ปี ปล่อยคืนธรรมชาติแล้ว 7 ครั้ง
- ปี 2554 ปล่อยนกกระเรียนพันธุ์ไทยคืนสู่ธรรมชาติ ในพื้นที่ชุ่มน้ำ จ.บุรีรัมย์ บริเวณเขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บห้วยจรเข้มาก 10 ตัว
- ปี 2555 เขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำสนามบิน 14 ตัว
- ปี 2556 เขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บห้วยจรเข้มาก 21 ตัว
- ปี 2557 เขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำสนามบิน 13 ตัว
- ปี 2558 เขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บห้วยจรเข้มาก 12 ตัว
- ปี 2560 เขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บห้วยจรเข้มาก 9 ตัว
- ปี 2562 เขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บห้วยจรเข้มาก 10 ตัว
ทั้งนี้ ปี 2559 สามารถเพาะเลี้ยงนกกระเรียนพันธุ์ไทยในแหล่งธรรมชาติได้ครั้งแรก จำนวน 2 ตัว คือ “น้องข้าว” จากพ่อแม่พันธุ์ที่ปล่อยเมื่อปี 2556 และ “น้องมะพร้าว” จากพ่อแม่พันธุ์ที่ปล่อยเมื่อปี 2556
ทั่วโลกพบนกกระเรียนทั้งหมด 15 สายพันธุ์ พบกระจายอยู่ในทุกภูมิภาคยกเว้น ทางตอนใต้ของทวีปอเมริกา มี 8 ชนิดพันธุ์ เป็นนกกระเรียนที่พบทางเขตหนาว ในตอนเหนือของเส้นศูนย์สูตรและเป็นนกอพยพ ส่วนอีก 7 ชนิดพันธุ์ จัดเป็นนกกระเรียนประจำถิ่น ที่พบทางเขตร้อนและเขตกึ่งร้อน
แห่งแรกในไทย ศูนย์อนุรักษ์นกกระเรียนพันธุ์ไทย
ไม่เพียงเพิ่มจำนวนนกกระเรียนพันธุ์ไทย แต่การส่งเสริมในเรื่องการอนุรักษ์ เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน ชุมชนท้องถิ่นจึงมีส่วนสำคัญ
นายเบญจพล นาคประเสริฐ ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์ กล่าวว่า ถือเป็นความสำเร็จในการศึกษาของ ทีมวิจัยในการนำนกกระเรียนพันุธุ์ไทย ปล่อยคืนธรรมชาติและมีชีวิตรอด หลังจากนกได้สูญพันธุ์จากธรรมชาติ จนถูกขึ้นบัญชีภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ บัญชีแดงของสหภาพสากลเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (ICUN) และอนุสัญญาไซเตส อยู่ในบัญชีอนุรักษ์ที่ 2 ที่ถูกคุกคาม
การเสนอปลดล็อกนกกระเรียนพันธุ์ไทย ออกจากบัญชีสัตว์สูญพันธ์ุในธรรมชาติ อาจจะต้องดูตามหลักเกณฑ์ ทำแล้วต้องผ่านแบบยั่งยืน ถึงจะเสนอปลดล็อก ไม่ใช่แค่ผ่านเส้นยาแดง
ปัจจุบันทีมวิจัยมีความชำนาญ โดยจะมีการคัดนกกระเรียนในวัยเจริญพันธุ์ เพื่อให้เกิดลูกนกในธรรมชาติมากที่สุด รวมทั้งปล่อยต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี 8 -12 ตัว บวกกับนกธรรมชาติมันก็จะเพิ่มขึ้น
ภายใน 5-10 ปี อาจจะมีนกกระเรียนพันธุ์ไทย 100-200 ตัว ใครมาก็เห็น ไม่ต้องเสียเวลาตั้งกล้องนาน จะได้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศของภาคอีสานตอนใต้
ส่วนผลกระทบภัยแล้ง ที่เกิดขึ้นกับนกกระเรียนพันธุ์ไทยในพื้นที่ นายเบญจพล กล่าวว่า นกกระเรียนที่อยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำ ต้องมีการปรับตัว ตามธรรมชาติได้อยู่แล้วขณะที่ชุมชนในพื้นที่อ่างเก็บน้ำห้วยจรเข้มาก มีความเข้าใจและดูแลพื้นที่มากขึ้น เพราะชุมชนท้องถิ่นเห็นความสำคัญของนกกระเรียน ว่า การอยู่ร่วมกัน ชุมชนรอบข้างได้ประโยชน์ และเป็นการเอื้อเฟื้อซึ่งกันและกัน นกอยู่ได้ ชาวบ้านก็เจริญรุ่งเรืองตาม
อยากให้ศูนย์ตรงนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ที่ยั่งยืนของบุรีรัมย์ และสร้างความตระหนักให้กับเด็กและเยาวชน ถึงทรัพยากรธรรมชาติ
ศูนย์อนุรักษ์ฯ แห่งนี้เป็นเหมือนสัญลักษณ์ว่าชาวบ้านในพื้นที่ทุกคนช่วยกัน เราสามารถอนุรักษ์ สิ่งที่หายากให้กลับมาอยู่รอบตัวเราได้
ไม่เพียงเท่านั้นยังเป็นการต่อยอด สร้างโอกาสทางด้านเศรษฐกิจและส่งเสริมให้พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชน ชุมชนท้องถิ่น และประชาชนทั่วไป ได้มีแหล่งเรียนรู้ศึกษาดูงานเกี่ยวกับการอนุรักษ์นกกระเรียนพันธุ์ไทยแบบจับต้องได้ตามหลักวิชาการ
ที่ผ่านมาองค์การสวนสัตว์ประสบความสำเร็จ และมีการปล่อยนกกระเรียนพันธุ์ไทยคืนสู่พื้นที่ธรรมชาติได้มากถึง 105 ตัว มีชีวิตรอดในธรรมชาติ 71 ตัว และทำให้มีลูกนกกระเรียนพันธุ์ไทยเกิดในธรรมชาติ ไม่น้อยกว่า 15 ตัว หลังจากที่เคยสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติ
สอดคล้องกับ นายยุทธพล อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ความสำเร็จที่เกิดขึ้นทั้งการฟื้นฟูประชากรนกในพื้นที่ธรรมชาติ บ่งชี้ว่านกจะอยู่รอดได้ตามธรรมชาติ และยังส่งผลต่อเศรษฐกิจชุมชน เช่น ผลิตภัณฑ์ข้าวที่มีสัญลักษณ์ของนกกระเรียน และในอนาคตอาจมีการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในเรื่องของการท่องเที่ยงเชิงอนุรักษ์
นกกระเรียนรักเดียวใจเดียว
นกกระเรียนอายุยืน ประมาณ 70 ปี และที่สำคัญที่สุด เขาอยู่กันเป็นคู่ รักเดียวใจเดียว ดังนั้นในปีหน้า 14 ก.พ.ก็มีแนวคิดว่าเราจัดวันวาเลนไทน์ที่นี้ เชิญชวนนักท่องเที่ยวมา จะเป็นการสร้างเม็ดเงินมาที่จ.บุรีรัมย์
“หอดูนก” ความสูงเท่าตึก 4 ชั้น สามารถมองเห็นทัศนียภาพโดยรอบพื้นที่ชุ่มน้ำเขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำห้วยจรเข้มาก เป็นหนึ่งในไฮไลท์ จุดชมวิวให้ผู้ที่สนใจจะได้เห็นฝูงนกกระเรียน 20-30 ตัว ที่หากินในบริเวณดังกล่าว
น.ส.นุชจรี พืชคูณ นักวิจัยในโครงการนกกระเรียนพันธุ์ไทย องค์การสวนสัตว์ กล่าวว่า ชาวบ้านในพื้นที่มีส่วนสำคัญที่ช่วยให้นกกระเรียนอยู่ได้ เนื่องจากนกดังกล่าวอาศัยในพื้นที่ชุ่มน้ำ รวมถึงนาข้าวของชาวบ้าน ที่ผ่านมามีการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ ลดใช้สารพิษ เพิ่มรายได้ของชาวบ้าน และทำให้นกอยู่รอดปลอดภัยได้ในพื้นที่
น.ส.กัญญรัตน์ เกรัมย์ นักเรียนทำหน้าที่ไกด์ประจำศูนย์
ศูนย์ดังกล่าวเป็นแหล่งเรียนรู้ของเยาวชน รวมทั้งถ่ายทอดเรื่องราวความทุ่มเททำงานขององค์การสวนสัตว์และหน่วยงานพันธมิตรมากว่า 10 ปี เพื่อปล่อยนกกระเรียนให้อยู่ในธรรมชาติได้ โดยได้รับความร่วมมือจากชุมชน ทั้งการจัดนิทรรศการให้เยาวชนร่วมเป็นไกด์นำเที่ยว และการนำสินค้าของชาวบ้านมาจำหน่ายที่ร้านขายของที่ระลึก
ศูนย์แห่งนี้ จะเป็นพื้นที่ศึกษาเรียนรู้เรื่องพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญในระดับประเทศ รวมทั้งเรื่องราวของนกกระเรียน ที่ครั้งหนึ่งเคยสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติของไทย จนกระทั่งผู้คนร่วมกันอนุรักษ์และทำให้นกกระเรียนกลับคืนมาอีกครั้ง
ภายในศูนย์เรียนอนุรักษ์ยังมีการเปิดนิทรรศการ เพื่อให้ผู้ที่สนใจได้ศึกษาและเรียนรู้ โดยมีมัคคุเทศก์ให้ข้อมูล อย่างคล่องแคล่ว
น.ส.กัญญรัตน์ เกรัมย์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ทำหน้าที่ไกด์ครั้งแรกในศูนย์อนุรักษ์ บอกว่า ภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยอนุรักษ์ ให้กับชุมชนท้องถิ่นของตัวเอง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
เปิดโฉม "ลูกนกกระเรียนพันธุ์ไทย"รังแรกของปี 2560
เสนอปลด "นกกระเรียนพันธุ์ไทย"พ้นบัญชีสูญพันธุ์ หลังเจอลูกนกเกิดใหม่ 2 ตัว ครั้งแรกรอบ 50 ปี
ข่าวดี “นกกระเรียน” คืนถิ่นออกลูกเพิ่ม 1 ตัว