ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ระดมทีมช่วย "มาเรียม" ติดเชื้อในกระแสเลือด-ปอดอักเสบ

สิ่งแวดล้อม
12 ส.ค. 62
06:26
3,488
Logo Thai PBS
ระดมทีมช่วย "มาเรียม" ติดเชื้อในกระแสเลือด-ปอดอักเสบ
ทีมสัตวแพทย์ระดมช่วยเหลือพะยูนมาเรียม พบติดเชื้อในกระแสเลือด ปอดอักเสบ บริเวณผนังท้องมีอาการบวมน้ำ ส่งผลให้ไม่อยากกินอาหาร มีไข้ โดยให้ยาปฏิชีวนะ 2 สัปดาห์ เสริมวิตามินและสารน้ำเกลือ รอความพร้อมก่อนเคลื่อนย้ายไปรักษา จ.ภูเก็ต

วันที่ 11 ส.ค.2562 นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.), ดร.นันทริกา ซันซื่อ ผอ.วิจัยโรคสัตว์น้ำฯ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน (ภูเก็ต), นายไมตรี แสงอริยนันท์ ผอ.สำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 10 (ตรัง), นายประจวบ โมฆรัตน์ ผอ.ส่วนอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล สบทช. 10, นายชัยพฤกษ์ วีระวงศ์ หน.ขหล. หมู่เกาะลิบง และผู้นำท้องที่ท้องถิ่นตำบลเกาะลิบง ลงพื้นที่ติดตามอาการป่วยของพะยูนมาเรียม พร้อมตรวจร่างกายและทำการประเมินอาการ

การลงพื้นที่ติดตาม พบว่าพะยูนมาเรียม มีอาการป่วยดังนี้

  • วันที่ 8 ส.ค.2562 มาเรียมมีอาการซึมและไม่กินอาหาร โดยเฉพาะเวลากลางวัน มีการหายใจผิดปกติ เปิดช่องจมูกค้างนาน 5 วินาที ลมหายใจมีกลิ่น ผายลมมีกลิ่นเหม็นมาก
  • วันที่ 9 ส.ค.2562 มีอาการตัวสั่น เกร็ง โก่งตัว ลอยบนผิวน้ำ ช่วง 20.00-06.00 น. ปฏิเสธการกินอาหาร
  • วันที่ 10 ส.ค.2562 อาการทรงตัว ในช่วงบ่ายเริ่มว่ายไปกินหญ้าทะเลได้บ้าง
  • วันที่ 11 ส.ค.2562 มีอาการซึมและอ่อนเพลียมากขึ้น อัตราการหายใจ 3-4 ครั้ง มีการเปิดหายใจนานมาก สูงสุดถึง 30 วินาที อัตราการเต้นหัวใจ 140-150 ครั้งต่อนาที เสียงลมหายใจผิดปกติ มีอาการลอยตัวด้านช้ายแสดงถึงการอักเสบของปอด ลมหายใจมีกลิ่นเหม็นมาก บริเวณผนังท้องมีอาการบวมน้ำ เยื่อเมือกบริเวณในช่องปากพบแผลหลุมเปื่อย 2-3 แห่ง บริเวณแพนหางพบรอยด่างขาว คล้ายการติดเชื้อไวรัส

 

ภาพ : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

ภาพ : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

ภาพ : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

 

ผลการวินิจฉัยเบื้องต้นของทีมสัตวแพทย์ โดย รศ.สพญ.ดร.นันทริกา ชันซื่อ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบการติดเชื้อในกระแสเลือดและปอดอักเสบ มีแผลในช่องปาก ซึ่งมีผลต่อความอยากกินอาหาร มีไข้ และอยู่ในสภาพขาดอาหารและน้ำ ขณะที่แนวทางในการรักษา มีการให้ยาปฏิชีวนะต่อเนื่องอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เจาะเลือด เสริมวิตามินและสารน้ำเกลือ หากจำเป็นอาจให้ทางเส้นเลือด และป้ายแผลในปาก

 

ภาพ : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

ภาพ : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

ภาพ : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

 

ขณะที่ รองอธิบดี ทช. เรียกประชุมผู้นำท้องถิ่นเพื่อชี้แจงและรายงานอาการป่วยของมาเรียมให้กับสาธารณะทราบ โดยมีข้อสรุปร่วมกันให้ดำเนินการดังนี้

  • สัตวแพทย์ให้ยาเพื่อทำการรักษาการติดเชื้อไปแล้วเมื่อวันที่ 11 ส.ค. และเมื่อมาเรียมมีร่างกายที่พร้อมจะทำการเคลื่อนย้ายไปรักษาอาการป่วยที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน (ภูเก็ต) โดยวิธีเร่งด่วน คือ เคลื่อนย้ายทางอากาศโดยเฮลิคอปเตอร์
  • ทางคณะรองอธิบดี ทช. และทีมสัตวแพทย์ ได้เดินทางไปดูบ่ออนุบาลที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง เพื่อเป็นแผนรองรับการเคลื่อนย้าย หากเห็นว่ามีความเหมาะสมทำการรักษาพยาบาล
  • ในคืนนี้วันที่ 11 ส.ค. ทีมสัตวแพทย์มีความเห็นที่จะนำมาเรียมมารักษาในบ่ออนุบาลชั่วคราว ที่ติดตั้งไว้ที่หน้าเขาบาตู เพื่อสะดวกในการรักษาพยาบาลมาเรียม
  • ทางคณะรองอธิบดี ทช. ลงความเห็นให้เพิ่มทีมสัตวแพทย์เข้ามาปฏิบัติงานโดยด่วนในช่วง 1-3 วันนี้ ก่อนที่ทำการเคลื่อนย้ายมาเรียม และขณะนี้ได้ทีมสัตวแพทย์เพิ่มเติมแล้ว

 

ภาพ : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

ภาพ : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

ภาพ : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

 

ทั้งนี้ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำชับเจ้าหน้าที่ให้ดูแลมาเรียมและยามีลอย่างดีที่สุด ซึ่งพะยูนดังกล่าวอยู่ภายใต้โครงการอนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทย ในพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง "มาเรียม" เครียด ล่าสุดอาการดีขึ้น เฝ้าระวัง 24 ชม.

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง