วันนี้ (16 ส.ค.2562) เกษตรกรชาวไร่หลายจังหวัดทั่วประเทศ และผู้ประกอบการนำเข้ารถแทรคเตอร์หรือรถเพื่อทางการเกษตรใช้แล้ว จาก ตปท.เกือบ 100 คน รวมตัวกันที่ ก.พาณิชย์ เพื่อติดตามความคืบหน้าในการร้องขอให้ทบทวนยกเลิกการประกาศห้ามนำเข้ารถแทรคเตอร์ใช้แล้วจาก ตปท. เพราะเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายต่อเกษตรกร
เหลือเวลาอีกประมาณ 4 เดือน ที่ประกาศกระทรวงพาณิชย์ฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ ในการกำหนดมาตรการให้ต้องขออนุญาตหรือห้ามนำเข้ารถยนต์ใช้แล้วเข้ามาในประเทศ ประกาศดังกล่าวถูกประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2562 มีกำหนดใน 180 วัน หลังประกาศ
สาระสำคัญส่วนหนึ่ง คือการห้ามนำเข้ารถยนต์ที่ผ่านการใช้งานแล้วตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภทต่าง ๆ หนึ่งในนั้น คือ รถแทรคเตอร์มือสองจากต่างประเทศ ตัวแทนเกษตรกรชาวไร่อ้อย ระบุว่า มาตรการดังกล่าวจะส่งผลให้ต้นทุนของเกษตรกรสูงขึ้นเป็นเท่าตัว
หากเทียบกำลังแรงม้าที่เท่ากัน รถแทรคเตอร์มือสองจากต่างประเทศจะมีราคาประมาณ 1 ล้านบาท ขณะที่รถแทรคเตอร์มือหนึ่งในประเทศราคาประมาณ 2 ล้านบาท โดยรถแทรคเตอร์มือสองส่วนใหญ่สามารถใช้งานได้ไม่แตกต่างกัน และยังต้องจดทะเบียนกับสำนักงานขนส่งซึ่งจำเป็นต้องผ่านการตรวจสภาพรถเป็นประจำทุกปี
สอดคล้องกับข้อมูลจากผู้ประกอบการนำเข้า ที่ยืนยันว่ารถแทรคเตอร์มือสองที่นำเข้านั้น เป็นรถสภาพดีพร้อมใช้งาน ไม่ใช่เศษซากหรือขยะจากอุตสาหกรรม จึงต้องการให้กรมการค้าต่างประเทศและกระทรวงพาณิชย์ ทบทวนมาตรการดังกล่าว เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเกษตรกรทั่วประเทศ รวมถึงผู้ประกอบการนำเข้า
ก่อนหน้านี้ยื่นหนังสือต่อกระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 25 ก.ค.ที่ผ่านมา(2562) ต่อมาวันที่ 5 สิงหาคม(2562) อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เชิญผู้ร้องเรียนมาประชุม เพื่อรับฟังปัญหาและความต้องการของผู้ร้องเรียน
ล่าสุด วันนี้(16 ส.ค. 62) อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ มอบหมายให้รองอธิบดีประชุมร่วมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาข้อร้องเรียนของเกษตรกร และหาแนวทางแก้ปัญหานี้ คาดว่าจะทราบผลหรือข้อสรุปการประชุมในช่วงเที่ยงวันนี้