วันนี้ (17 ส.ค.2562) เวลา 15.00 น. นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมทีมสัตวแพทย์ ทช. ร่วมแถลงสรุปสาเหตุการตายของ "มาเรียม" พะยูนน้อยเกาะลิบง โดยระบุว่า เจ้าหน้าที่ได้ร่วมกันดูแลมาเรียมที่เกยตื้นมาตั้งแต่วันที่ 29 เม.ย.ที่ผ่านมา ด้วยความรัก แต่เมื่อเวลา 23.30 น. วันที่ 16 ส.ค.ที่ผ่านมา มาเรียมมีอาการลอยนิ่ง ทีมสัตวแพทย์ตรวจไม่พบชีพจร และการตอบสนอง ทีมสัตวแพทย์จึงทำการกู้ชีพและกระตุ้นการหายใจ ต่อมาเวลา 00.09 น. วันที่ 17 ส.ค.2562 มาเรียมก็ได้จากไป
เหมือนการเด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว วันนี้การทิ้งเศษพลาสติกเล็กๆ เพียงชิ้นเดียว ทำให้มาเรียมขวัญใจของคนไทยตายลง จึงหวังว่ามาเรียมจะจุดกระแสให้คนทั่วโลกตื่นตัวที่จะกำจัดขยะทะเล และไม่ทิ้งขยะลงทะเล
หลังจากนี้ทาง ทส.เตรียมสตัฟฟ์ "มาเรียม" เพือหนุนศึกษาพะยูนไทยและอนุรักษ์ให้ยั่งยืน และต่อไปชื่อของมาเรียม จะกลายเป็นสัญลักษณ์ของการพิทักษ์ผืนป่า รักษาท้องทะเล เป็น "มาเรียมแอคชัน" โดยจะเริ่มจากการสร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่
ผลชันสูตรมาเรียม พลาสติกแฝงในหญ้าทะเล ทำลำไส้อุดตัน
ด้านสัตวแพทย์หญิง ดร.นันทริกา ชันซื่อ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยผลชันสูตรว่า พบพลาสติกอุดในรอยต่อลำไส้เล็กส่วนปลายกับลำไส้ใหญ่ส่วนต้น ที่มีชิ้นเล็กๆ และได้สานกับมูลของมาเรียม ทำให้กลายเป็นก้อนใหญ่จนอุดตันและเกิดการอักเสบและมีแก๊สสะสมอยู่เต็มทางเดินอาหาร จนเกิดสภาวะขาดน้ำอย่างหนัก และมีการติดเชื้อในกระแสเลือด ปอดเป็นหนองตามมา จนเกิดอาการช็อกและหัวใจวายจนตาย
น่าตกใจ ลำไส้ส่วนต้น ถึงลำไส้ส่วนปลายมีแก๊สสะสมอยู่มาก และมีเนื้อตายอยู่ด้วย เนื่องจากแรงดันเพิ่มขึ้นมากจึงทำให้เกิดอาการช็อกจนมาเรียมหัวใจวายตาย
สำหรับพลาสติกที่พบนั้น ทางนิติวิทยาศาสตร์สัตวแพทย์ สามารถชี้ได้ว่า การกินถุงพลาสติกนี้ คาดว่าจะกินเมื่อครั้งที่เจอกับตัวผู้ชน โดยพะยูนตัวผู้หวงถิ่นเข้ามาชน ทำให้มาเรียมมีรอยช้ำ และเกิดความเครียด จนขาดน้ำ และปวดท้อง
สำหรับชิ้นส่วนของถุงพลาสติกที่มาเรียมกินเข้าไปนั้น คาดว่าจะเป็นถุงก๊อบแก็บเสื่อมสภาพ เป็นเส้นๆ ชิ้นๆ 8-10 เซนติเมตร คาดว่าเป็นพลาสติกที่อยู่ในสาหร่ายทะเลที่เริ่มย่อยสลายแล้ว จึงแยกยากว่าเป็นพลาสติกชิ้นเดียวกันหรือไม่
สัตวแพทย์ในไทยไม่เพียงพอ ขนาดนำสัตวแพทย์ทุกกรมมารวมกันเกือบทั้งประเทศ แต่ละคนแช่น้ำวันละ 5-6 ชั่วโมง ที่ผ่านมาไม่มีการจัดอบรมดูแลสัตว์น้ำในรูปแบบเดียวกัน โดยเฉพาะการดูแลสัตว์ทะเลหายาก ต่อไปจึงอาจขอให้มีการจัดอบรมเพื่อให้สามารถดูแลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ส่วนการดูแลยามีลนั้น ทีมสัตวแพทย์จะไม่นำยามีลไปปล่อยในธรรมชาติอีกหลายปี รอจนกว่าจะโตเต็มที่ก่อน เพราะมาเรียม ตอนแรกเรามองว่าปล่อยเขาไปได้ แต่ปรากฏว่ามีองค์ประกอบที่ควบคุมไม่ได้มากเกินไป
ถ้าโตแล้วยามีลปรับตัวเข้ากับธรรมชาติได้ เราก็จะปล่อยเขาไป แต่ถ้าปรับตัวไม่ได้ เราพร้อมดูแลเขาตลอดชีวิต