วันนี้ (19 ส.ค.2562) นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาส 2 ปี 2562 ขยายตัวร้อยละ 2.3 นับจากไตรมาส 4 ของปี 2557 ซึ่งต่ำสุดในรอบ 19 ไตรมาส หรือ ประมาณ 5 ปี และครึ่งปีแรกขยายตัวร้อยละ 2.6 พร้อมปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2562 ทั้งปี จากเดิมขยายตัวในกรอบร้อยละ 3.3 - 3.8 ชะลอตัวลงที่กรอบร้อยละ 2.7-3.2
ภายใต้สมมติฐาน ยอดการส่งออกทั้งปีขยายตัวร้อยละ 3 จากปัจจุบันไตรมาส 2 ติดลบ ร้อยละ 6.1 มียอดนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่น้อยกว่า 20 ล้านคน การลงทุนเอกชนขยายตัวมากกว่าร้อยละ 4.9 จากไตรมาส 2 ขยายตัวเพียงร้อยละ 2.2 ทั้งนี้หากรัฐบาลไม่ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะเร่งด่วน เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวร้อยละ 2.9 - 3.0 แต่หากออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ มากกว่า 316,000 ล้านบาท จะส่งผลต่ออัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.54 - 0.56 และขยายตัวทั้งปี ที่ร้อยละ 3.44 - 3.54
นายทศพร กล่าวย้ำว่า แม้จีดีพีไทยชะลอตัวต่อเนื่อง 2 ไตรมาสติดต่อกัน แต่ยังไม่ใช่สัญญาณเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ตามนิยามเศรษฐศาสตร์ เป็นเพียงสัญญาณการเซตัวเท่านั้นจึงจำเป็นต้องผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพ รักษาบรรยากาศทางการเมือง และต้องออกไปเชิญชวนการลงทุนจากต่างประเทศ ให้เข้ามาตั้งฐานผลิตในไทยอย่างเร่งด่วน และต้องเร่งรัดเบิกจ่ายภาครัฐ และลงทุนรัฐวิสาหกิจอย่างเต็มกำลัง
เศรษฐกิจไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย หรือ วิกฤตเศรษฐกิจ เป็นเพียงอาการเซตัวเท่านั้น หากมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ จะช่วยให้จีดีพีโตตามกรอบประมาณการณ์
ทั้งนี้ หากการประชุมคณะรัฐมนตรี พรุ่งนี้ (20 ส.ค.2562) เห็นชอบออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจตามที่ ครม.เศรษฐกิจ เสนอจะส่งสัญญาณดีต่อการฟื้นความเชื่อมั่นการบริโภคซึ่งส่งผลดีต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง