วันนี้ (21 ส.ค.2562) นพ.วัฒนา พารีศรี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชท่าบ่อ จ.หนองคาย เปิดเผยถึงผลการผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีของผู้ป่วยรายหนึ่งว่า พบว่ามีก้อนนิ่วมากถึง 1,898 เม็ด ปกติแล้วมีการผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีด้วยวิธีการส่องกล้องทุกวัน วันละ 5-10 คน ในหนึ่งปีจะผ่าตัดคนไข้นิ่วในถุงน้ำดีประมาณ 1,200 คน ซึ่งนิ่วในถุงน้ำดีมีหลายประเภท ทั้งเม็ดเล็ก ๆ หลายเม็ดกระจัดกระจาย หรือเม็ดใหญ่เม็ดเดียว มีได้ทั้งสีดำ สีน้ำตาล สีเหลือง และสีขาว ขึ้นอยู่กับส่วนประกอบของนิ่ว
คนไข้รายล่าสุดที่ผ่าตัดพบก้อนนิ่ว 1,898 เม็ด นับเป็นรายที่พบก้อนนิ่วมากที่สุด เท่าที่แพทย์ได้ผ่าตัดคนไข้รายอื่น ๆ มาตั้งแต่ปี 2537 ก่อนหน้านี้ ปี 2549 พบ 495 เม็ด ปี 2552 พบ 920 เม็ด
สำหรับสาเหตุของโรคนิ่วในถุงน้ำดียังไม่ทราบแน่ชัด แต่สันนิษฐานได้ว่าเกิดจากผู้ป่วยมีไขมันสูง แคลเซียมในร่างกายสูง น้ำดีมีการติดเชื้อ หรือท่อน้ำดีมีการอุดตัน เหล่านี้ทำให้เกิดการตกตะกอน โดยยังไม่ได้มีการพิสูจน์ว่าปัจจัยเหล่านี้เป็นสาเหตุของการเกิดโรคร้อยเปอร์เซ็นต์ จึงทำให้ยังไม่สามารถป้องกันโรคนี้ได้ และโรคนิ่วในถุงน้ำดีพบมากที่สุดในพื้นที่อีสาน ประมาณร้อยละ 10 ของประชากรภาคอีสาน
นพ.วัฒนา กล่าวว่า โรคนิ่วในถุงน้ำดี ร้อยละ 30 จะไม่แสดงอาการ แต่จะพบก็ต่อเมื่อมีการตรวจสุขภาพประจำปี มีการอัลตราซาวด์ตรวจช่องท้อง ขณะนี้มีการรณรงค์เรื่องมะเร็งท่อน้ำดี มีการตรวจอัลตราซาวด์ให้กับประชาชนทั่วไป ส่วนอีกร้อยละ 30 จะมีอาการปวด แน่นท้อง ท้องอืดบ่อย เหมือนโรคกระเพาะ โดยเฉพาะเวลาที่รับประทานอาหารที่มีโปรตีนหรือไขมันสูง แน่นท้องผิดปกติ อีกร้อยละ 30 เกิดจากโรคแทรกซ้อน เช่น ถุงน้ำดีอักเสบ นิ่วอุดท่อน้ำดี จะทำให้ผู้ป่วยปวดท้องมาก
ประชาชนควรตรวจสุขภาพประจำปี อัลตราซาวด์ช่องท้อง หรือผู้ที่ปวดท้อง แน่นท้องเรื้อรัง กินยาโรคกระเพาะไม่หายรักษาไม่หายต้องลองอัลตราซาวด์ดูอาจเป็นนิ่วในถุงน้ำดีได้