วันนี้ (23 ส.ค.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากมีคำขออาชญาบัตรขอสำรวจแร่ รวมกว่า 43,000 ไร่ ใน จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นคำขอใหม่ ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2561 และต้นปี 2562 ทำให้กลุ่มคนไม่เอาเหมืองแร่รวมตัวกันเดินทางไปที่ศาลาประชาคม ภายในที่ว่าการอำเภอหนองไผ่ จ.เพชรบูรณ์ เพื่อแสดงพลังคัดค้านไม่เห็นด้วยต่อทิศทางนโยบายเหมืองแร่ ในระหว่างที่นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ลงพื้นที่มารับฟังความคิดเห็นภาพรวมเกี่ยวกับเหมืองแร่ ใน จ.เพชรบูรณ์
สำหรับ จ.เพชรบูรณ์ มีคำขออาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่และคำขออาชญาบัตรพิเศษของบริษัทเอกชน 3 ราย ได้แก่ บริษัท แอซเซอร์ เซอร์คิส จำกัด, บริษัท พีวีเค ไมน์นิ่ง จำกัด และ บริษัท สยาม คอปเปอร์ จำกัด ซึ่งเป็นคำขอปี 2561 และ ต้นปี 2562 จำนวน 14 แปลง รวมพื้นที่คำขอ 43,679 ไร่ ที่ปรากฎคำขอชัด ซึ่งอยู่ใน อ. หนองไผ่ อ.ชนแดน อ.บึงสามพัน และ อ.เมือง
นายชูชาติ สุขสมบูรณ์ อายุ 84 ปี หมู่ 3 ต.หนองไผ่ อ.หนองไผ่ จ.เพชรบูรณ์ เป็นหนึ่งผู้ประกอบการร้านอาหาร ยืนยันว่า ชาวบ้านไม่ต้องการให้เกิดกิจการเหมืองแร่ทุกประเภท เพราะเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติ มีแหล่งท่องเที่ยววัดโบราณและชุมชน รวมถึงการค้าย่านเศรษฐกิจ แต่คำขออาชญาบัตรขอสำรวจขณะนี้ ครอบคลุมภูเขาและพื้นที่ชุมชนซึ่งมีวัด และพื้นที่การเกษตรของชาวบ้านที่อาศัยอยู่กันมานานแล้ว และน่ากังวลว่าหากอุตสาหกรรมเหมืองเข้ามาจะส่งผลกระทบต่อชุมชน สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ
สำหรับการรับฟังความคิดเห็นวันนี้ มีผู้ว่าราชการจังหวัดดพชรบูรณ์ตัวแทนอุตสาหกรรมจังหวัด และข้าราชการจากหน่วยงานต่างๆ ร่วมเวทีรับฟังด้วย โดยตัวแทนจากอุตสาหกรรมจังหวัด ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์กับไทยพีบีเอส เกี่ยวกับความชัดเจนเรื่องคำขออนุญาตที่เกิดขึ้น
นางอรุณลักษณ์ ทองไพวรรณ รองประธานกิ่งกาชาดหนองไผ่ อ.หนองไผ่ ระบุว่า การคัดค้านการเข้าพื้นที่ของเหมืองแร่เกิดขึ้นมาตลอด 4 ปี แต่ครั้งนี้ที่ชาวบ้านลุกขึ้นสู้อีกครั้ง เพราะไม่ต้องการให้มีกิจกรรมใดๆ เกี่ยวกับเหมืองเกิดขึ้นเลย ก่อนหน้านี้ชาวบ้านเคยพบการเข้ามาสำรวจและเจาะหลุมในช่วงเวลากลางคืน และเคยยื่นหนังสือขอเอกสารเกี่ยวกับความชัดเจนในใบคำขออนุญาต แต่อุตสาหกรรมจังหวัดแทบไม่เคยให้ความร่วมมือ ซึ่งเป็นปัญหาที่ชาวบ้านพบปัญหามาโดยตลอดในการขอความชัดเจนจากหน่วยงานที่อนุญาต
ด้านนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง กล่าวถึงความชัดเจนหลังรับฟังความคิดเห็นเรื่องเหมืองแร่ว่า ที่เท่ารับฟังและรับหนังสือร้องเรียน พบว่าชาวบ้านเป็นกังวลว่าบริษัทเหมืองแร่จะเข้ามาสำรวจและขุดเจาะในตำบลต่างๆ ของ 4 อำเภอที่ขณะนี้มีคำขอกว่า 40,000 ไร่ จึงเกรงอนาคตหากมีการประกอบกิจการเกิดขึ้นและกังวลว่ามลพิษจะไหลลงสู่แหล่งน้ำและกระจายไปตามธรรมชาติ ซึ่ง จ.เพชรบูรณ์ เป็นต้นน้ำของแม่น้ำป่าสัก เป็นความกังวลของประชาชน ทั้งใน อ.หนองไผ่ และอำเภอใกล้เคียง โดยขอให้เป็นตัวแทนไปสื่อสารให้รัฐบาลและฝ่ายเกี่ยวข้องได้รับทราบ จึงขอรับเรื่องไว้และต้องถือว่าเรื่องขุดเจาะสำรวจหรือทำเหมืองแร่เป็นปัญหามาโดยตลอด และในหลายพื้นที่ได้สร้างปัญหาให้ประชาชนในหลายๆ จังหวัดเป็นอย่างมาก เช่น การทำเหมืองแร่ที่ จ.ตาก (เหมืองสังกะสี อ.แม่สอด) หรือ เหมืองแร่คลิตี้ อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ชาวบ้านได้นำมาสะท้อนให้ฟังโดยขอให้ช่วยดูแล
เมื่อถามว่า ในฐานะเป็นรัฐมนตรีที่ดูแลกระทรวงการคลัง ประเมินศักยภาพการพัฒนาประเทศและรายได้จากการทำเหมืองแร่อย่างไร นายสันติ ระบุว่า กิจการทำเหมืองต้องมีความชัดเจนขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ เพราะหากอยู่ในป่าเขาไม่เกี่ยวกับชุมชนก็ว่าไปอย่าง แต่หากการพัฒนาขุดเจาะเหมืองที่มีชุมชนหนาแน่นอย่าง อ.หนองไผ่ อ.บึงสามพัน ซึ่งตามคำขออาชญาบัตร หรือ แนวของการทำเหมืองจะห่างจากตัวอำเภอหรือตัวหมู่บ้านประมาณ 1-2 กิโลเมตร โอกาสของความสุ่มเสี่ยงมีโอกาสสูง โดยเฉพาะ จ.เพชรบูรณ์ เป็นพื้นที่ต้นน้ำของแม่น้ำป่าสักจะไหลรวมกับแม้น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำอีกหลายสายซึ่งมีความสุ่มเสี่ยงเช่นกัน ทุกอย่างต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ
นายสันติ ระบุด้วยว่า ในฐานะเป็นรัฐมนตรีด้วย เป็น ส.ส.เพชรบูรณ์ด้วย และ มี ส.ส เพชรบูรณ์ จากพรรคพลังประชารัฐอีก 4 คน ที่เดินทางมารับฟังความคิดเห็นวันนี้ ยืนยันว่า ทุกคนมีความแนวทางเดียวกันที่เป็นเอกภาพว่าไม่ต้องการให้เหมืองแร่เกิดขี้น ที่ จ.เพชรบูรณ์
ส่วนกรณีที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ให้สัมภาษณ์ปลดล็อคนโยบายเหมืองแร่ทองคำทั่วประเทศที่เคยระงับไปเมื่อปี 2560 นายสันติ ระบุว่า จะอย่างไรก็ตาม ต้องดูข้อจำกัดในแต่ละพื้นที่ว่าการประกอบกิจการเหมืองแร่ หรือทำกิจกรรมของเหมืองอยู่ในพื้นที่ต้นน้ำหรือไม่ อยู่ใกล้กับชุมชนขนาดไหน โดยเฉพาะต้องดูประเด็นด้านความปลอดภัยกับสิ่งแวดล้อมก็ต้องพิจารณาเป็นอันกับต้นๆ ซึ่งจะไปหารือกับนายสุริยะและนายกรัฐมนตรีเพื่อให้พิจารณาประเด็นเหล่านี้
เมื่อถามว่า กระทรวงอุตสาหกรรม มักให้เหตุผลของให้ใบอนุญาตเหมืองแร่หลายต่อหลายครั้งว่าจะทำให้รัฐมีรายได้ เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและท้องถิ่นได้ค่าภาคหลวง รมช.คลัง ระบุว่า ในฐานะที่ดูแลการคลังการเงินของประเทศไม่ปฏิเสธว่ารัฐได้ค่าภาคหลวงจากการประกอบกิจการเหมืองแร่เป็นสิ่งที่เป็นรายได้เข้ารัฐ แต่ถามว่ารายได้เข้ารัฐจริงๆ ก็มีหลายตัวหลายเรื่องไม่ใช่แค่รายได้เข้ารัฐเฉพาะเหมืองแร่เท่านั้น แต่รายได้อื่นๆ ยังมีอีกมากมาย และมากกว่ารายได้ของเหมืองแร่ที่ได้ไม่มากนัก