วันนี้ (26 ส.ค. 2562) นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภาไทย และประธานสมัชชารัฐสภาอาเซียน กล่าวเปิดการประชุมใหญ่รัฐสภาอาเซียน (AIPA) ครั้งที่ 40 ว่า ปีนี้เป็นเจ้าภาพการประชุมสมัชชารัฐสภาอาเซียน หลังจากเป็นเจ้าภาพครั้งสุดท้ายเมื่อ 10 ปีที่แล้ว โดย 10 ปีที่ผ่านมา มีปัญหาใหม่เกิดขึ้นท้าทายชาวอาเซียน เหมือนที่นายกรัฐมนตรีกล่าวยกตัวอย่างปัญหาความยาเสพติด เคลื่อนย้ายจากประเทศหนึ่งไปอีกประเทศหนึ่ง เช่นเดียวกับขยะทะเลที่เคลื่อนย้ายจากฝั่งประเทศหนึ่ง ไปอีกประเทศหนึ่ง และปัญหาอีกหลายเรื่องที่ฝ่ายนิติบัญญัติสามารถมีส่วนร่วมแก้ปัญหาได้ เพื่อเป็นประโยชน์ฝ่ายบริหาร
นายชวน ได้กล่าวต้อนเปิดการประชุมเป็นภาษาอังกฤษ ในหัวข้อ “นิติบัญญัติร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล เพื่อประชาคมที่ยั่งยืน” อธิบายจุดมุ่งหมายให้ผู้เข้าร่วมประชุมรับรู้ความเข้าใจถึงการจับเคลื่อนร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาในอาเซียน ทั้งกระแสของการเปลี่ยนแปลง การเกิดขึ้นของลัทธิหัวรุนแรง ภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ภัยพิบัติจากการอพยพ และสภาวะเสื่อมโทรมจากการคอรัปชั่น ซึ่งรัฐสภาในฐานะองค์กรที่ใกล้ชิดกับประชาชนของมากที่สุด จะเห็นสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา
ประธานสมัชชารัฐสภาอาเซียน ยังยก 4 บทเรียนสำคัญต่อการขับเคลื่อนร่วมกันในภูมิภาคอาเซียนคือ 1.) จัดลำดับความสำคัญการแก้ปัญหาให้ประชาชนเป็นลำดับต้น ๆ เพื่อจัดการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด 2.) การทำงานร่วมกันระหว่างสมาชิกในอาเซียน เพื่อความสำเร็จในระยะยาว อย่างการเสนอให้มีเวทีการประชุม เพื่อให้มีการประสานงานกิจกรรมต่าง ๆ ของอาเซียนกับเลขาธิการสมัชชารัฐสภาอาเซียน ซึ่งประธานอาเซียนได้รับข้อเสนอดังกล่าว เพื่อมุ่งไปสู่การร่วมมือนั้น
3.) ให้ความสำคัญกับประชาชนก่อนสิ่งอื่น เพิ่มขีดความสามารถให้ประชาชนสามารถยืนด้วยตนเอง ให้โอกาสและความมั่นคง สร้างการเติบโตและคงทนได้ตามธรรมชาติ 4.) ต้องเคารพหลักนิติธรรม รักษาระเบียบสังคมผ่านกฎหมาย เพราะไม่มีประเทศใดสามารถหยิบยื่นความมั่งคั่งให้เท่ากันได้ แต่ทุกคนจะได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมาย
ในตอนท้าย นายชวน ยังกล่าวถึงปัญหาทางการเมืองไทยที่เกิดจากความไม่ยุติธรรม เมื่อฝ่ายบริหารได้เลือกปฏิบัติ ต่อต้านกลุ่มคนเห็นต่างทางการเมือง สังคมถูกกัดกร่อนจากภายใน หากขาดการถ่วงดุลอำนาจ สินบนและฉ้อราษฎร์บังหลวง ซึ่งตนเองในฐานะที่เคยเป็นทั้งผู้นำฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ เห็นว่าฝ่ายนิติบัญญัติจะเป็นความหวัง ปกป้องการเลือกปฏิบัติของฝ่ายบริหาร และรักษาไว้ซึ่งความเท่าเทียมทางกฎหมายได้ เพราะประชาคมที่ไม่รักษาหลักนิติธรรม จะไม่สามารถมีความเท่าเทียมกันได้อย่างแท้จริง